คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7134/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินที่แปรรูปแล้ว จำนวน 20 แผ่น รวมปริมาตร 0.36 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายโดยมิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิด เป็นการบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดเมื่อวันที่ เดือน ปีใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบไม้ของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 73 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองแล้วได้ความว่า จำเลยที่ 1 เคยมีประวัติกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาก่อนจนศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกมาแล้ว มากระทำความผิดอีก แสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่เข็ดหลาบและกระทำความผิดเป็นนิสัย กรณีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้ (ที่ถูกเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษได้) ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ไม่พบประวัติการกระทำความผิด ทั้งนิสัยและความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง และให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไม้ของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ตะเคียนหินที่แปรรูปแล้ว จำนวน 20 แผ่น รวมปริมาตร 0.36 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายโดยมิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิด เป็นการบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดเมื่อวันที่ เดือน ปีใด แม้ในชั้นพิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม 2547 จำเลยทั้งสองยอมรับว่านายวัฒนาพยานอันดับที่ 7 ตามบัญชีระบุพยานลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 เป็นผู้ตรวจสอบไม้ของกลางและทำบันทึกการตรวจสอบรับไม้ของกลางไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 นายณรงค์พยานอันดับที่ 8 ได้ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.2 และพันตำรวจโทสมรพยานอันดับที่ 9 ตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวเป็นผู้สอบปากคำจำเลยทั้งสองไว้ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โดยโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานเหล่านั้นและอ้างส่งเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 ต่อศาลก็ตาม แต่เอกสารทั้งสี่ฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดวันเวลาใด ทั้งบันทึกการตรวจสอบรับมอบไม้ของกลางตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ที่ว่าได้ทำบันทึกในวันที่ 5 กันยายน 2546 นั้น มิได้ระบุว่า วันตรวจสอบรับมอบไม้ของกลางเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ ส่วนแผ่นที่ 2 ของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 คงเป็นเพียงการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ซึ่งไม่มีข้อความที่อ้างถึงวัน เดือน ปีที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมา ที่จำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านรายงานดังกล่าว ก็มิได้มีการระบุถึงวันเวลาที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเช่นกัน ดังนั้น โจทก์จะถือเอาเอกสารเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องหาได้ไม่ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share