คำสั่งคำร้องที่ 1232/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ วรรคท้ายฎีกาไม่ได้ จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ประการแรกจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีแล้วทำการไต่สวนมูลฟ้องไป การไต่สวนมูลฟ้องมิใช่การพิจารณาเป็นคนละขั้นตอนกัน ฉะนั้นคำสั่งของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น ถ้าหากศาลล่างยอมรับฟังคำคัดค้านของจำเลยก็จะมีผลทำให้การไต่สวนมูลฟ้องที่ได้ดำเนินมาแล้วภายหลังการคัดค้านเป็นอันใช้ไม่ได้ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องใหม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นที่คัดค้านว่าศาลไม่มีอำนาจทำการไต่สวนมูลฟ้องได้ประการที่สอง คำสั่งของศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยโดยอ้างว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย นั้นน่าจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้าง จำเลยเห็นว่าคำสั่งให้รับอุทธรณ์เท่านั้นที่จะเป็นที่สุด ฉะนั้นคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นจะถือว่าเป็นที่สุดไม่ได้ จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาต่อไปได้
ประการที่สาม คำสั่งในชั้นอุทธรณ์ที่จะถึงที่สุดนั้นจะต้องเป็นคำสั่งยืนตามในเนื้อหาของอุทธรณ์ด้วย เมื่อพิเคราะห์คำสั่งศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย ในเนื้อหาที่ว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจไต่สวนไปได้โดยจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาได้
ประการสุดท้าย จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านตลอดมาว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจทำการไต่สวนมูลฟ้องไปได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจึงฎีกาได้
โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 9)
กรณีสืบเนื่องมาจากในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องโดยอ้างว่า จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้อยู่ระหว่างสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมมิได้ และแถลงว่าถ้าศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาไปในวันดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(8)(9) ให้ถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์แถลงคัดค้านว่าตามคำร้องของทนายจำเลยไม่เข้าข่ายตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 122การไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล จำเลยยังไม่มีฐานะเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 122 ตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องนั้น หมายถึงการพิจารณาคดีเท่านั้น แต่ขณะนี้ศาลดำเนินการเพียงชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้แบ่งขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องไว้ในลักษณะหนึ่งและการพิจารณาคดีไว้อีกลักษณะหนึ่งคนละขั้นตอนกัน ฉะนั้น การไต่สวนมูลฟ้องจึงยังไม่ใช่การพิจารณาคดี และการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล จำเลยยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความและยังไม่เป็นจำเลย จะไม่มาฟังการไต่สวนก็ได้ แต่มีสิทธิตั้งทนายความมาซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เท่านั้น อีกประการหนึ่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นมีความมุ่งหมายเพียงว่าในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีความประสงค์จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมตามสมัยประชุม การไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องมาศาลที่ทนายจำเลยอ้างบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปและถือว่าไม่เป็นการขัดต่อรัธรรมนูญตามที่ทนายจำเลยอ้าง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนการไต่สวน โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีไปจนกว่าจะหมดสมัยประชุมแล้วจึงดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปและขอให้มีคำสั่งว่าการพิจารณาคดีที่ได้กระทำไปหลังมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์ จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้จำเลยเลื่อนคดี โดยอ้างว่าการไต่สวนมูลฟ้องไม่ใช่การพิจารณาเป็นคนละขั้นตอนกัน กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 122แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นกลับยอมรับว่าคำสั่งที่มีในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำสั่งในระหว่างการพิจารณาจำเลยย่อมมีสิทธิขอเลื่อนคดีได้ เมื่อไม่อนุญาตให้เลื่อนแล้วพิจารณาคดีต่อไปการพิจารณานั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้ตามนัยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 122 และคำว่า “ระหว่างพิจารณา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 นั้น ตรงกับข้อความที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 วรรคท้าย การที่ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องและสั่งให้คดีมีมูลนั้นย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ว่าการพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 อีกขอให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเสร็จศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์อีก
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเรื่องการไต่สวนมูลฟ้องไว้ในภาค 3 ว่าด้วยวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 1 ส่วนในชั้นพิจารณาได้บัญญัติไว้ในลักษณะ2 การไต่สวนมูลฟ้อง จึงมิใช่การพิจารณาฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องไปแล้วและสั่งว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาจึงหาใช่กรณีที่ศาลจะพิจารณาคดีนั้นมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 122 ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้เลื่อนคดีไปและสั่งว่าการพิจารณาที่ผ่านไปแล้วใช้ไม่ได้นั้น เป็นการอุทธรณ์เพื่อให้มีการไต่สวนมูลฟ้องใหม่ ซึ่งย่อมอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไปแล้วว่าคดีมีมูล ให้มีผลเป็นอย่างอื่นจึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ว่าคดีมีมูลนั่นเอง จำเลยจึงอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะคำสั่งที่ว่าคดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ซึ่งถูกห้ามอุทธรณ์ตาม มาตรา 193 ส่วนที่จำเลยกล่าวเป็นคำขอไว้ในอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 ขอให้รอการพิจารณาคดีไว้นั้นก็เป็นกระบวนพิจารณาที่บัญญัติไว้ในภาค 3 ว่าด้วยวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 2 การพิจารณา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอต่อศาลชั้นต้นให้รอการพิจารณาแต่อย่างใดและศาลชั้นต้นก็ยังไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องนี้แต่ประการใด จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของจำเลย ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 4)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 6)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเด็ดขาด จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 170 ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันนัดไต่สวนมูลฟ้องอยู่ในระหว่างสมัยประชุมและจำเลยได้ขอใช้เอกสิทธิตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 122 นั้น ก็หาอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยโดยอ้างว่าศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากถูกห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นนี้เป็นที่สุดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย จึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share