แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ในการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 บัญญัติว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน ดังนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีล้มละลาย ไม่ใช่ยื่นคำร้องในคดีนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 128,786,093.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,876,558.80 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2540 อัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 118,868,598.60 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 40,936 บาท นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ร่วมชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 128,745,157.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,876,558.80 บาท และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 118,868,598.61 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์จำนวน 69,755,595.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,876,558.80 บาท และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 59,879,036.97 บาท แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้โจทก์คิดได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารโจทก์และประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 16547 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีบุริมสิทธิจำนองเป็นเงิน 72,211,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์ประกาศคิดจากลูกค้า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8214, 16036 และ 16043 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีบุริมสิทธิจำนองเป็นเงิน 24,409,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์ประกาศคิดจากลูกค้ามาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสิบไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา วันที่ 16 มิถุนายน 2543 โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 16547 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวในราคา 29,860,000 บาท โดยนางสาวสุภานันท์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลย่อมตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ด้วยตนเอง จึงให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวน แล้วสั่งใหม่ว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 1395/2545 และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ในการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้ จนกระทั่งในการขายทอดตลาดครั้งที่ 11 วันที่ 15 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 29,860,000 บาท เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในข้อแรกก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร” และมาตรา 6 “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน ดังนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 1395/2545 ของศาลล้มละลายกลาง ถือได้ว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยเหตุใด ๆ ก็ชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีล้มละลายดังกล่าว ไม่ใช่มายื่นคำร้องในคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในปัญหาข้ออื่นและฎีกาของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.