คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7113/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กในการจัดสถานที่ให้เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กและเยาวชน ในการสอบปากคำจำเลยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน นอกจากจะเป็นไปตามความประสงค์ที่จำเลยเป็นผู้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมฟังการสอบสวนแล้ว ยังเป็นไปตามวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่กำหนดให้มีสหวิชาชีพ ในที่นี้คือพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134/2 กรณีไม่อาจถือว่าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นการประจานจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 284, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก,317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุสิบหกปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร รวม 4 กระทงจำคุกกระทงละ 3 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย (ที่ถูก ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 27 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.8 การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว คงจำคุก 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามฟ้องข้อนี้เสีย เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 26 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กในการจัดสถานที่ให้เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น อันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กและเยาวชน ในการสอบปากคำจำเลยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน นอกจากจะเป็นไปตามความประสงค์ที่จำเลยเป็นผู้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมฟังการสอบสวนแล้ว ยังเป็นไปตามวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนที่กำหนดให้มีสหวิชาชีพในที่นี้คือพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134/2 กรณีจึงไม่อาจถือว่าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นการประจานจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง การสอบสวนในวันดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share