คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา และด้านทิศใต้กว้างประมาณ 10 เมตร ความยาวจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือประมาณ 960 เมตร ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7459 เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา ด้านทิศตะวันตกกว้างประมาณ 300 เมตร และอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ของที่ดินจำเลย โดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยได้ปลูกสร้างโรงงานประกอบกิจการผลิตเสาเข็มและผลิตภัณฑ์คอนกรีตบนที่ดินของจำเลย และได้ดำเนินการปักเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 19 ต้น ลงบนทางภาระจำยอม โดยปักชิดแนวเขตด้านทิศตะวันตกยาวตลอดแนวตั้งแต่ด้านทิศใต้ไปจนสุดทางภาระจำยอมด้านทิศเหนือ และพาดสายไฟฟ้าแรงสูงไปตามเสาไฟฟ้าจนถึงโรงงานของจำเลยเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของจำเลย การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงประโยชน์ในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิกระทำได้ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์ในที่ดิน โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าทั้งหมดแล้วขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ตำบลคลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเช่นเดิม หากจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าทั้งหมดแล้วเสร็จ
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ มีโจทก์และนางสุขศิรีเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินและให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เป็นทางเดิน ทางรถยนต์และเพื่อทำสาธารณูปโภค ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7459 โดยซื้อมาจากนางสุขศิรี ขณะนั้นถนนและสาธารณูปโภคในที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ยังดำเนินการสร้างไม่แล้วเสร็จ จำเลยจึงเป็นผู้รับหน้าที่ทำถนนและสาธารณูปโภคในที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ขณะที่จำเลยทำถนน ปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ไม่ได้คัดค้าน การปักเสาไฟฟ้าดังกล่าวทำให้โจทก์และนางสุขศิรีได้รับประโยชน์ ไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ภารยทรัพย์ และเป็นการกระทำตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางสุขศิรีที่มีมาแต่เดิม ทั้งทำให้บริเวณนั้นมีแสงไฟฟ้าสว่างเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าทั้งหมดและขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ตำบลคลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าแล้วเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเห็นสมควรให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และนางสุขศิรีเป็นเจ้าของรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7459 ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ของที่ดินจำเลยตามบันทึกข้อตกลงฉบับวันที่ 10 มกราคม 2539 เอกสารหมาย จ.5 จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาวังน้อย ปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนทางภาระจำยอมของโจทก์คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ของโจทก์ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 และบันทึกข้อตกลงภาระจำยอม เอกสารหมาย จ.5 ระบุข้อตกลงโดยโจทก์ยอมให้ที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดินทางรถยนต์ทั้งแปลง ดังนั้น สภาพที่ดินดังกล่าวเป็นไปในลักษณะต้องการกันที่ดินเป็นทางเข้าออกโดยเฉพาะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก ซึ่งต่อมาได้มีการทำถนนในที่ดินเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของที่ดินสามยทรัพย์ รวมทั้งที่ดินของจำเลยด้วย แม้ตามบันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเอกสารหมาย จ.5 จะไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอมก็ตาม แต่เมื่อปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่ได้ปักเสาไฟฟ้าอยู่บนทางภาระจำยอมในส่วนที่เป็นทางเข้าออกไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้ ทั้งได้ความว่านางสุขศิรีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ร่วมกับโจทก์เห็นชอบให้จำเลยดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอมได้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share