คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้ที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อการอนาจารหรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าการเป็นธุระจัดหาดังกล่าวกระทำขึ้นโดยวิธีการใด ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้จัดการกิจการหรือสถานที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าประเวณีหรือเพื่อใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อกระทำการค้าประเวณีเป็นการเฉพาะ เมื่อสภาพแห่งความผิดทั้งสองอย่างดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่มีเจตนากระทำความผิดแตกต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรม มิใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีโดยกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดได้ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 282 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9, 11 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 ริบถุงยางอนามัย และแผ่นพลาสติกของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 52 วรรคสอง วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม, 11 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก วรรคสอง วรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานค้ามนุษย์ซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณี และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานค้ามนุษย์ซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณี และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจาร และฐานเป็นธุระจัดหาเพื่อให้บุคคลใดกระทำการค้าประเวณี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานให้ที่พักอาศัยคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีซึ่งมีบุคคลอายุกว่าสิบแปดปี บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 28 ปี 6 เดือน ริบถุงยางอนามัยและแผ่นพลาสติกของกลาง คืนธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 500 บาท 2 ฉบับ และเสื้อผ้าที่สวมใส่ค้าประเวณี 7 ตัว ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า ตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยที่ว่า จำเลยเปิดสถานการค้าประเวณีหรือไม่นั้น โจทก์มีพยานปากนางสาวป้อง ไม่ทราบชื่อสกุล และเด็กหญิง ป. ซึ่งพยานทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุควรระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยโดยตนเองไม่ได้ประโยชน์อันใด นอกจากนี้แสดงสภาพภายในร้านแม่พลอยซึ่งชั้นบนมีการแบ่งเป็นห้อง ๆ ไว้เพื่อการร่วมประเวณี และมีการตรวจพบถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว แสดงว่าก่อนหน้านี้มีการร่วมประเวณีเกิดขึ้น สอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจธนกฤต ร้อยตำรวจเอกชัยชนะ และพันตำรวจโทมนตรี พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าตรวจพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อการขายบริการทางเพศ และจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานโจทก์ล้วนสอดคล้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเปิดสถานการค้าประเวณี ที่จำเลยนำสืบว่าเปิดเป็นเพียงร้านขายอาหารและมีคาราโอเกะ เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนประเด็นที่จำเลยทราบหรือไม่ว่าเด็กหญิง ป. อายุไม่ถึง 15 ปี และนางสาวป้อง ไม่ทราบชื่อสกุล อายุไม่ถึง 18 ปี เห็นว่า จำเลยเบิกความรับว่าได้ตรวจสอบหนังสือเดินทางของบุคคลทั้งสองแล้วเห็นว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่อ้างว่าไม่ได้ตรวจดูอายุ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผล เพราะในหนังสือเดินทางในหน้าที่มีภาพถ่าย ในบรรทัดต่อมาก็ระบุวันเดือนปีเกิด จึงย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะไม่ดู ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทราบดีว่าเด็กหญิง ป. อายุไม่ถึง 15 ปี และนางสาวป้องอายุไม่ถึง 18 ปี ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า นางสาวกะติ้ง ไม่ทราบชื่อสกุล นางสาวเบียร์ ไม่ทราบชื่อสกุล นางสาวประภารัตน์ นางสาวสโนว ไม่ทราบชื่อสกุล นางสาวบีหรืออะแง ไม่ทราบชื่อสกุล นางสาวมะมอญหรือมะชิด ไม่ทราบชื่อสกุล นางสาววรรณา และนางสาวฟ้าหรือจิ่น ไม่ทราบชื่อสกุล เป็นพนักงานภายในร้านแม่พลอยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทมนตรีเบิกความประกอบบันทึกคำให้การซึ่งเป็นคำให้การของนางสาวกะติ้งกับพวกที่ยืนยันเป็นพนักงานขายบริการทางเพศภายในร้านแม่พลอย ซึ่งหากนางสาวกะติ้งกับพวกมิใช่พนักงานภายในร้านแม่พลอยก็ไม่มีเหตุผลที่นางสาวกะติ้งกับพวกจะให้การเช่นนั้น พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่านางสาวกะติ้งกับพวกเป็นพนักงานภายในร้านแม่พลอย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ซึ่งมีบุคคลอายุเกินสิบแปดปี บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ทำการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ตามลำดับ เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นทั้งเจ้าของกิจการร้านอันเป็นสถานการค้าประเวณี และเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการอนาจารเพื่อการค้าประเวณี และเป็นการค้ามนุษย์ด้วย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานค้ามนุษย์ซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีซึ่งมีบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานค้ามนุษย์ซึ่งกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา เพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ซึ่งมีบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาเพื่อให้บุคคลใดกระทำการค้าประเวณี และฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานให้ที่พักอาศัยคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมแล้ว คงจำคุก 18 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีเห็นควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้ที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อการอนาจารหรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าการเป็นธุระจัดหาดังกล่าวกระทำขึ้นโดยวิธีการใด ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้จัดการกิจการหรือสถานที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าประเวณีหรือเพื่อใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อกระทำการค้าประเวณีเป็นการเฉพาะ ดังนี้ เมื่อสภาพแห่งความผิดทั้งสองอย่างดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่มีเจตนากระทำความผิดแตกต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรม มิใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีโดยกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดได้ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share