แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยโกรธโจทก์ร่วมที่ไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือจากจำเลยและด่าโจทก์ร่วมว่า “ไอ้ลูกหมา” พร้อมกับผลักโต๊ะใส่ แล้วเข้ากอดปล้ำต่อสู้กัน ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุกับสมัครใจทะเลาะวิวาท จึงไม่อาจอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกันเพราะการป้องกันโดยชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อนจึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง
ใบหูเป็นส่วนที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูขาดไปส่วนหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้บาดแผลจะรักษาหายประมาณ 14 วันโจทก์ร่วมก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว
จำเลยกับโจทก์ร่วมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มูลคดีนี้มาจากการบริหารงานบริษัทของพี่น้อง จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง การลงโทษจำคุกจำเลย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคมส่วนรวมโดยเฉพาะความสัมพันธ์ ฉันพี่น้องโจทก์ร่วมก็ไม่ได้โกรธแค้นจำเลยซึ่งเป็นน้องจนไม่ยอมอภัย จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ปรับเปลี่ยน นิสัยที่ยังอาจแก้ไขได้เสียใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสว่าง หลีอาภรณ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงบางข้อเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อเหตุและการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายด่าโจทก์ร่วมก่อนว่า “ไอ้ลูกหมา” หลังจากนั้น โจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยยกโต๊ะและดันโต๊ะเข้าไปหาโจทก์ร่วมอย่างแรง โจทก์ร่วมหลบออกไปทางด้านซ้าย เมื่อพ้นออกมาจำเลยเข้าไปกอดปล้ำโจทก์ร่วมดันไปกลางห้องและกัดใบหูโจทก์ร่วมแล้วล้มลงไปด้วยกันส่วนจำเลยเบิกความว่าโจทก์ร่วมได้เปิดลิ้นชักพร้อมลุกขึ้นและหยิบถุงเท้าซึ่งบรรจุสิ่งของที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ขณะโจทก์ร่วมลุกขึ้นส่วนขาด้านบนของโจทก์ร่วมได้งัดโต๊ะทำให้โต๊ะเอียงมาทางจำเลย จำเลยจึงลุกขึ้นทำให้ส่วนต้นขาของจำเลยดันโต๊ะเอียงกลับไปทางโจทก์ร่วมต่อมาโจทก์ร่วมวิ่งออกมาจากโต๊ะตรงเข้ามาหาจำเลย จำเลยถอยไปยืนบริเวณกลางห้อง โจทก์ร่วมใช้ถุงเท้าดังกล่าวเหวี่ยงตีจำเลย จำเลยยกแขนซ้ายขึ้นรับทำให้วัตถุที่อยู่ข้างในฟาดถูกบริเวณท้ายทอยที่สบักหลังของจำเลย เห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้าง ร่างกายของจำเลยต้องมีร่องรอยฟกซ้ำบ้างไม่มากก็น้อยและเชื่อว่าจำเลยต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกายจำเลยในวันนั้นเอง การที่ร่างกายของจำเลยไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายและไม่ไปแจ้งความดังกล่าว จึงไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เป็นไปดังที่จำเลยเบิกความ แต่น่าเชื่อว่าเมื่อโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหนังสือ จำเลยคงโกรธโจทก์ร่วมและด้วยความโมโหจึงด่าโจทก์ร่วมว่า “ไอ้ลูกหมา”ขณะเดียวกันก็ได้ผลักโต๊ะที่โจทก์ร่วมและจำเลยนั่งอยู่ไปทางโจทก์ร่วมเมื่อโจทก์ร่วมหลบออกมาแล้ว โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเข้ากอดปล้ำกันพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุและสมัครใจทะเลาะวิวาทกับโจทก์ร่วม จำเลยไม่อาจยกเอาเหตุป้องกันโดยชอบขึ้นมาอ้างได้เพราะการป้องกันโดยชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อนจึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ใบหูตอนบนของโจทก์ร่วมขาดไม่ทำให้รูปหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว จึงไม่ถือว่าได้รับอันตรายสาหัสนั้น เห็นว่าใบหูเป็นส่วนที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูขาดไปส่วนหนึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้บาดแผลดังกล่าวจะรักษาหายประมาณ14 วัน โจทก์ร่วมก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกับโจทก์ร่วมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มูลเหตุที่เกิดคดีนี้มาจากความขัดแย้งกันในทางธุรกิจและการบริหารงานของบริษัทโดยที่ต่างก็ไม่ยอมโอนอ่อนให้แก่กันในทำนองขิงก็ราข่าก็แรงประกอบกับจำเลยก็เป็นคนอารมณ์ร้อนโมโหง่ายและเอาแต่ใจตัวเอง หาใช่เป็นผู้ที่มีลักษณะเป็นอาชญากรไม่ เมื่อพิจารณาถึงว่าจำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง การลงโทษจำคุกจำเลยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคมส่วนรวม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมและพี่น้องคนอื่น ๆ รวมทั้งมารดาของจำเลยกับโจทก์ร่วมซึ่งยังมีชีวิตอยู่ มีแต่จะก่อให้ความร้าวฉานแตกแยกมีความอาฆาตพยาบาทกันต่อไปอีก ทั้งตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ร่วมได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยสามารถแสดงออกถึงการสำนึกผิดด้วยวิธีการง่าย ๆ และไม่สิ้นเปลืองโดยแจ้งให้มารดาและญาติพี่น้องมารับรู้ในการขอขมาในการที่ได้ล่วงเกินโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมยินดีและไม่อาจปฏิเสธทั้งยอมให้อภัยต่อจำเลยแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมก็ไม่ได้โกรธแค้นจำเลยซึ่งเป็นน้องจนไม่ยอมอภัยให้แก่จำเลยจึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ปรับเปลี่ยนนิสัยที่ยังอาจแก้ไขได้เสียใหม่ แต่เพื่อให้จำเลยได้สังวรไม่ประพฤติตนเช่นที่ผ่านมาอีกจึงให้คุมความประพฤติจำเลยด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 4 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งในปีแรก 3 ครั้ง ในปีที่สอง 2 ครั้งในปีที่สาม และ 1 ครั้งในปีที่สี่ ตามวันเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ในการรายงานตัวครั้งแรกให้พนักงานคุมประพฤติจัดการนำตัวจำเลยไปขอขมาโจทก์ร่วมต่อหน้ามารดาของจำเลยและโจทก์ร่วม ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 20 ชั่วโมงตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร และห้ามมิให้จำเลยประพฤติตนในลักษณะระรานบุคคลใด ๆ อีกตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์