คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5268/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ไม่มีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาด แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ขอเข้าดำเนินคดีแทนจำเลย จำเลยก็จะดำเนินคดีเองต่อไปไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจกท์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 55116 ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปในราคา 8,650,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 อ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบและขายได้ราคาต่ำ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
บริษัทเอสที แอสเซท จำกัด ผู้ซื้อทรัพย์ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 370/2545 ระหว่าง บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด โจทก์ บริษัท ณ นคร สุขภัณฑ์เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ 1 กับพวก จำเลย จำเลยจึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวน ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสอบถามผู้รับมอบอำนาจจำเลยและทนายจำเลยได้ความว่าจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์จริง และยังไม่พ้นจากภาวะการเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่าเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้หามีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ขอเข้าดำเนินคดีแทนจำเลย จำเลยก็จะดำเนินคดีเองต่อไปไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share