คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7103/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาเนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่1อีกต่อไปเพราะตกลงกันได้โดยจำเลยที่1ได้ออกเช็คพิพาท3ฉบับสั่งจ่ายเงินรวม410,000บาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และมีจำเลยที่2ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับจำเลยที่2ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้นย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่2จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเองทั้งจำเลยที่2ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าวในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกันรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่2ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่1ออกให้แก่โจทก์จำเลยที่2จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คดังกล่าวแล้ว โจทก์เรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้นเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงถอนคำร้องทุกข์คดีอาญามิใช่สัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางพลี จำนวน 3 ฉบับ ลงวันที่4 ธันวาคม 2535 วันที่ 11 ธันวาคม 2535 และวันที่ 18 ธันวาคม2535 จำนวนเงิน 100,000 บาท 200,000 บาท และ 110,000 บาทตามลำดับรวมเป็นเงิน 410,000 บาท ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 จริงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เอกสารหมาย จ.5ดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1ออกให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น”ข้อความตามเอกสารหมาย จ.5 ตอนต้นระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาเนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะตกลงกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 410,000 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และมีจำเลยที่ 2 ยืนยันว่า หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายหายทางแพ่งให้แก่โจทก์ข้อความดังกล่าวแสดงถึงเหตุที่โจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์เพราะจำเลยที่ 1 ยอมออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่โจทก์จะยังไม่ได้รับชำระเงินทันที เนื่องจากเช็คพิพาทลงวันที่ล่วงหน้าทั้งสามฉบับ จึงเป็นเหตุผลที่จะมีการค้ำประกันการชำระเงินตามเช็ค เพราะหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์ก็จะเสียหายที่ไม่ได้รับเงินชำระหนี้ดังนั้นข้อความที่จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้น ย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 2 จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเอง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารหมาย จ.5 ในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน
พิพากษายืน

Share