แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาในปัญหาที่ว่าจำเลยที่1เป็นผู้ขับรถโดยประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวและจำเลยที่1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่4เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาคำสั่งศาลที่มีนายทะเบียนและจ่าศาลรับรองถึงความถูกต้องรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่จำต้องนำเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาสืบประกอบ หลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายต้องการให้แนบมากับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำมาสืบในชั้นพิจารณาได้แม้โจทก์ไม่ได้แนบหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายมาท้ายฟ้องด้วยก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสอง แม้จำเลยที่2จะขับรถด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแต่เหตุที่รถชนกันเกิดจากความผิดของจำเลยที่1ฝ่ายเดียวที่ขับรถตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่2ขับโดยกะทันหันจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดด้วยแม้จำเลยที่2จะไม่ได้ฎีกาแต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่2ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่2กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่2ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบมาตรา247
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยสำนวนหลังรับโอนคดีมาจากศาลจังหวัดราชบุรี ให้เรียกโจทก์และจำเลยที่ 2สำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-6444 นครราชสีมา ไว้จากจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียนบ-3692 ราชบุรีด้วยความประมาทชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-6444นครราชสีมา ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับสวนทางมาด้วยความประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 354,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นางฝนไม่ได้เป็นมารดาโจทก์เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-6444 นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2533จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-3692 ราชบุรี ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-6444นครราชสีมา ซึ่งนายมนัส แอบท้องไทร เป็นผู้ขับสวนมาได้รับความเสียหาย โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงินทั้งสิ้น 53,700 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 53,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า บริษัทเดชอัมพรพาณิชย์ จำกัดได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-3692 ไปแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-3692 ราชบุรีและไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 354,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สอง
จำเลย ที่ 3 อุทธรณ์ ทั้ง สอง สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 348,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 3 ฎีกา ทั้ง สอง สำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่สองที่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงฝ่ายเดียวและจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อจำเลยที่ 3 นั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย และความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อจำเลยที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 3จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาในสำนวนที่สองมีเพียง 56,720 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์เป็นบุตรของนางฝน สายพันธ์ หรือไม่โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ที่นางฝนอ้างเป็นพยานหลักฐานแสดงการเป็นมารดาของโจทก์มาสืบพยานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เป็นสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาคำสั่งศาลที่มีนายทะเบียนและจ่าศาลรับรองถึงความถูกต้อง อีกทั้งสำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารมหาชนซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าแท้จริงและถูกต้อง จึงไม่จำต้องนำเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาสืบประกอบ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำสืบโต้แย้งจึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางฝน
ปัญหาประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายมาในคำฟ้องนั้นเห็นว่า หลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายต้องการให้แนบมากับคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 และเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำมาสืบในชั้นพิจารณาได้ แม้โจทก์ไม่ได้แนบหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายมาท้ายฟ้องด้วย ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วหาเคลือบคลุมไม่
ปัญหาประการที่สามมีว่า จำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงฝ่ายเดียว ปัญหานี้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับโดยกะทันหันจำเลยที่ 2 จึงมิได้ประมาทเลินเล่อเหตุที่รถชนกันเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว หาใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แต่อย่างใดไม่จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประเด็นอื่นอีกต่อไป คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะไม่ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแย่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรกเฉพาะจำเลยที่ 2และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนที่สอง