แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเบิกความหรือนำสืบแสดงพยานหลักฐานต่อศาลในการพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งอันเกี่ยวกับการนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ถ้าคำเบิกความ หรือพยานหลักฐานที่นำสืบแสดงเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในประเด็นของเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยสั่งในการพิจารณาส่วนนั้น ก็ย่อมจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 และมาตรา 180 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ขอให้เปิดทางภารจำยอมและพร้อมกับฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองตามวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาล ขอให้จำเลยเปิดทางเดินพิพาทให้โจทก์ใช้เดินก่อนพิพากษา ศาลสั่งไต่สวนในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ ๑ ได้สาบานตนเข้าเบิกความในการพิจารณาคดีต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบคำร้องของจำเลยที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า “นอกจากเส้นทางนี้แล้วไม่มีทางอื่นเข้าออกสู่ท้องนาได้อีก” และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ ๑ ได้นำจำเลยที่ ๒ สาบานตนเข้าเบิกความว่า “โดยเฉพาะข้าพเจ้ามีรถยนต์ต้องใช้เข้าออกในทางเส้นนี้เป็นประจำ นอกจากเส้นทางนี้แล้วไม่มีทางอื่นอีก” ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความนั้นเป็นความจริง ความจริงยังมีทางอื่นติดต่อทางในหมู่บ้านจำเลยที่จะเดินเข้าออกสู่ทุ่งนาได้ ข้อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งศาลได้สั่งให้โจทก์กับพวกเปิดทางเดินพิพาทแล้วขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองมิใช่เป็นการเบิกความเป็นพยานในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกัน อันจะเป็นเหตุให้ศาลหยิบยกคำเบิกความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อแพ้ชนะ แม้จะเป็นเท็จก็ไม่ใช่คำเบิกความหรือพยานหลักฐานข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ และ ๑๘๐ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าเป็นข้อสารสำคัญในคดีตามที่จำเลยยื่นคำร้องและกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าเป็นการเบิกความในชั้นใด ขอให้สั่งประทับฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเบิกความหรือนำสืบแสดงพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนเพื่อนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับ ซึ่งยังมิใช่เป็นชั้นพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องอันจะมีผลให้คดีแพ้หรือชนะก็ดี แต่ความผิดฐานเบิกความเท็จนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ บัญญัติว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีต้องระวางโทษ ฯลฯ และมาตรา ๑๘๐บัญญัติว่า “ผู้ใดนำสืบหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้นต้องระวางโทษ ฯลฯ” จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาได้มุ่งหมายแต่เฉพาะการเบิกความหรือนำสืบแสดงพยานหลักฐานต่อศาลในการพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอันมีผลโดยตรงให้คดีที่ฟ้องร้องมีผลแพ้หรือชนะเท่านั้นไม่การเบิกความหรือนำสืบแสดงพยานหลักฐานใดต่อศาลในการพิจารณาส่วนหนึ่งส่วนใดของคดีนั้น ๆ ถ้าคำเบิกความหรือพยานหลักฐานที่นำสืบแสดงนั้นเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในประเด็นของเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยสั่งในการพิจารณาส่วนนั้นแล้วก็ย่อมจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จหรือนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้การไต่สวนเพื่อมีคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นการพิจารณาที่ศาลจะต้องมีคำสั่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีเช่นนั้น ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยว่า แม้จะเป็นการพิจารณาส่วนหนึ่งของศาล แต่มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอันจะมีผลให้แพ้หรือชนะ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ และ ๑๘๐ ได้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนคำเบิกความที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้องนั้น จะเป็นคำเบิกความข้อสำคัญในคดีหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะสั่งให้นำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๕ บัญญัติว่าห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเว้นแต่ศาลจะเป็นที่พอใจจากพยานที่ผู้ขอนำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่าคำฟ้องที่ผู้ขอยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควรและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้บังคับได้และในกรณีที่ยื่นคำขอให้ห้ามชั่วคราว (เช่น การขอให้เปิดทางเดินพิพาทในกรณีฉุกเฉินตามที่ฟ้องนี้) จะต้องให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องและเบิกความว่า โจทก์ปิดทางพิพาทแล้วไม่เปิดย่อมถือได้ว่าโจทก์ตั้งใจกระทำซ้ำ คือปิดทางพิพาทอยู่ตลอดเวลา และคำเบิกความของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่มีเส้นทางอื่นนอกจากทางพิพาทนี้ย่อมเป็นข้อสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่า คำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวของจำเลยนั้น มีเหตุสมควรและมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้ใช้วิธีการชั่วคราว คือ สั่งให้เปิดทางพิพาทตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๕ (๑) (๒) ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าจะมีทางสายอื่นนอกจากทางเดินพิพาทที่ปิดนี้ ใช้เป็นทางเข้าออกได้อีกหรือไม่จึงเป็นข้อสำคัญในคดีซึ่งจะต้องฟังกันต่อไปว่า จะเป็นเหตุอาจทำให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องได้หรือไม่ จึงเป็นข้อที่จะต้องพิจารณากันต่อไป
จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ประทับฟ้องโจทก์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี