คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนของทางทะเล โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งกุ้งแช่เย็นจากจังหวัดตราดไปต่างประเทศ ในการขนส่งกุ้งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 2 นำตู้บรรจุสินค้าซึ่งเรียกว่าคอนเทนเนอร์มาบรรจุกุ้งและลากจูงจากจังหวัดตราดไปยังท่าเรือสัตหีบ ปรากฏว่ากุ้งของโจทก์ในรถตู้ลำเลียงหายไปบางส่วน ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 นำของที่จำเลยที่ 1 รับขนมายังท่าเรืออันเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะให้ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในการรับขนของลุล่วงเป็นผลสำเร็จ เมื่อของที่รับขนสูญหายไป จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 617 และเมื่อจำเลยที่ 2 รับขนส่งช่วงจากจำเลยที่ 1 อันถือได้ว่า สินค้าของโจทก์ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ซึ่งผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องร่วมกันรับผิดในกรณีที่สินค้าของโจทก์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ ๑ ขนส่งกุ้งแช่เย็นของโจทก์จากจังหวัดตราด ไปลงเรือที่ท่าสัตหีบ จำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ลากจูงและขนส่งอีกทอดหนึ่ง โดยให้จำเลยที่ ๒ นำรถมาลากจูงรถตู้แช่เย็นไปยังสถานที่ดังกล่าว พนักงานขับรถวิทยุและรถลากจูงของจำเลยที่ ๒ ขณะทำการตามที่จ้างได้ลักลอบเอากุ้งแช่เย็นของโจทก์ไป โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๑,๗๑๐,๙๖๗.๐๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สินค้าหายในระหว่างความครอบครองรับผิดของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยตรงจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๑ รับขนส่งเฉพาะส่วนทางทะเลจากท่าเรือสัตหีบไปส่งยังท่าเรือต่างประเทศ โจทก์มิได้เสียหายจริงตามฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ขนสินค้ากุ้งสดแช่เย็นจากจังหวัดตราดไปยังท่าเรือสัตหีบ จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ลากตู้บรรทุกหีบตรึงปิดผนึก ไม่ทราบรายละเอียดสิ่งของภายในตู้ และทำในความควบคุมของจำเลยที่ ๑ จำนวนกุ้งที่สุญหายไม่จริงตามคำฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑,๗๑๐,๙๖๗.๐๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ กับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าทุนทรัพย์โจทก์ชนะคดี คำขอนอกนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับขนทางทะเล โจทก์จ้างจำเลยที่ ๑ ขนส่งกุ้งแช่เย็นจากจังหวัดตราดไปต่างประเทศในการขนส่งกุ้งดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ได้นำรถตู้ลำเลียงซึ่งเรียกว่าคอนเทนเนอร์ ๓ คันมาที่จังหวัดตราด เมื่อบรรจุกุ้งลงในรถตู้ลำเลียงเสร็จ จำเลยที่ ๒ ใช้รถลากจูงรถตู้ลำเลียงจากจังหวัดตราดไปยังท่าเรือสัตหีบ ปรากฏว่ากุ้งของโจทก์ในรถตู้ลำเลียง ๒ ค้นหายไปบางส่วน โจทก์นำสืบได้ความว่าการบรรทุกกุ้งนั้นเมื่อบรรจุกุ้งลงในรถตู้ลำเลียงแต่ละคันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานศุลกากรจะปิดประตูรถตู้ลำเลียง ใช้ลวดของกรมศุลกากรคล้องไว้และใช้เครื่องมือบีบตราตะกั่วให้ติดกับลวด เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ก็จะเอาแผ่นโลหะมาปิดผนึกรถตู้ลำเลียงและประทับตราของจำเลยที่ ๑ ไว้ เช่นเดียวกับ อนึ่ง การที่จำเลยที่ ๒ ลากจูงรถตู้ลำเลียงจากจังหวัดตราดไปยังท่าเรือสัตหีบนั้น โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้จัดการ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ มีสัญญาขอส่งระหว่างกัน โดยจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ลากจูงรถตู้ลำเลียงจากจุดที่บรรทุกของใส่รถตู้ลำเลียงไปยังท่าเรือสัตหีบ นายดับบลิว.แอล.โปรชาสก้ากรรมการผู้จัดการจำเลยที่ ๑ เบิกความว่าลูกค้าจะไปจ้างผู้รบขนทางบกรายอื่นที่มิใช่จำเลยที่ ๒ นำสินค้ามาให้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ ๑ มีสัญญากับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ มีสิทธิผูกขาดในการขนส่งสินค้าจากที่บรรทุกสินค้ามายังท่าเรือ นายฉลองพยานจำเลยที่ ๑ เบิกความว่าการมอบตู้ (รถตู้ลำเลียง) ให้ลูกค้าหรือจำเลยที่ ๒ รับไปนั้น จำเลยที่ ๑ จะทำหนังสือสำคัญให้เป็นแบบพิมพ์ของทหารสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้กรอกรายการแล้วนำไปให้ทหารสหรัฐอเมริกาเซ็นอนุญาตให้นำตู้ออกจากบริเวณท่าเรือได้ เป็นอันฟังได้ว่าโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งกุ้งแช่เย็นของโจทก์จากที่ทำการของโจทก์ที่จังหวัดตราดไปยังท่าเรือสัตหีบเพื่อนำลงเรือส่งไปต่างประเทศ ในการขนส่งดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้ให้จำเลยที่ ๒ นำรถมาลากจูงรถตู้ลำเลียงจากท่าเรือสัตหีบไปยังที่ทำการของโจทก์ที่จังหวัดตราดเพื่อบรรทุกกุ้งแล้วลากจูงกลับมาที่ท่าเรือสัตหีบไปยังที่ทำการของโจทก์ที่จังหวัดตราดเพื่อบรรทุกกุ้งแล้วลากจูงกลับมาที่ท่าเรือสัตหีบ เห็นได้ว่าการตกลงรับขนของดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น การที่จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ นำรถตู้ลำเลียงของจำเลยที่ ๑ ไปบรรทุกกุ้งของโจทก์มายังท่าเรือสัตหีบเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นผู้รับค่าจ้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๒ จากโจทก์โดยตรงก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายปรารภพยานจำเลยที่ ๒ ว่าเดิมจำเลยที่ ๑ เรียกเก็บค่าลากจูงให้จำเลยที่ ๒ แต่ต่อมาเกี่ยงให้จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บเอง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเกรงต้องเสียภาษีอีกทอดหนึ่ง การติดต่อลากจูงจำเลยที่ ๒ จะกำหนดอัตราขึ้นและเสนอให้จำเลยที่ ๑ ทราบเพื่อให้จำเลยที่ ๑ นำไปเสนอเป็นค่าบริการ เมื่อมีการตกลงลากจูงกันแล้ว จำเลยที่ ๒ จะได้แต่ค่าลากจูงเท่านั้น เรื่องการเสนอค่าบริการขนส่งทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ ๑ กระทำ แสดงว่าในการตกลงรับขนของนั้น โจทก์ทำความตกลงกับจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๑ จึงให้จำเลยที่ ๒ ทำการลากจูงรถตู้ลำเลียง การให้จำเลยที่ ๒ เก็บค่าระวางพาหนะส่วนของจำเลยที่ ๒ จากโจทก์โดยตรงเป็นเพียงวิธีการทางธุรกิจระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ อันมีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ ที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าจำเลยที่ ๑ เป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศเป็นคนต่างด้าวจะทำการรับขนส่งสินค้าทางบกไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ ๒๘๑ นั้นก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ พ้นความรับผิดไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๑๗ ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าอันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่นหรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมามยของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นแม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ขนส่งทางทะเล การที่จำเลยที่ ๑ รับขนส่งทางทะเลแล้วมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ไปนำของที่รับขนจากที่ทำการของโจทก์ที่จังหวัดตราดมายังท่าเรือสัตหีบย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ นำของที่จำเลยที่ ๑ รับขนมายังท่าเรืออันเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะให้ธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ในการรับขนของลุล่วงเป็นผลสำเร็จอยู่ในความหมายของกฎหมายดังกล่าว เมื่อของที่รับขนสูญหายไป จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิด
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ มีสัญญารับขนส่งสินค้าระหว่างกัน โดยจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ลากจูงตู้บรรจุสินค้าซึ่งเรียกว่าตู้คอนเทนเนอร์จากจุดที่จะบรรทุกสินค้าไปยังท่าเรือสัตหีบเพื่อส่งไปต่างประเทศ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลากจูงสินค้าของโจทก์จากจังหวัดตราดมายังท่าเรือสัตหีบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับขนสินค้าของโจทก์ด้วย โดยรับขนส่งช่วงจากจำเลยที่ ๑ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าสินค้าของโจทก์ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ซึ่งผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าของโจทก์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๘ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท

Share