คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่นิติกรรมเป็นโมฆะ สิทธิเรียกคืนทรัพย์ที่กระทำเพื่อชำระหนี้ของฝ่ายผู้เสียเปรียบย่อมเกิดขึ้นทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้
เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นโมฆะ ต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงบทบัญญัตินั้นแล้ว ผู้ใดอ้างว่าไม่รู้จะต้องแสดงให้เห็นพฤติการณ์เฉพาะตัวเป็นพิเศษโดยแน่ชัดว่าตนไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้เช่นนั้น
ในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้นั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะสืบแสดงว่าโจทก์ไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้ว่านิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และเป็นสารสำคัญในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้งดสืบพยาน โดยยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานคู่ความในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240(3),247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อบ้านเลขที่ 2/1 ไว้จากจำเลยเป็นเงิน 10,000 บาทจำเลยรับเงินไปแล้ว ได้ทำหนังสือสัญญากันไว้ ต่อมาจำเลยไม่ยอมออกจากบ้านและไม่ยอมโอนบ้านให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องขับไล่และให้ส่งมอบบ้านพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและให้จำเลยโอนบ้านให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืน อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2520 การที่จำเลยได้เงินจำนวน 10,000 บาท จากโจทก์เพราะโจทก์ชำระหนี้ค่าซื้อบ้านตามสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะซึ่งจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นการรับเงินโดยไม่สุจริตและโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยคืนเงิน 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่าในกรณีเดียวกันนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์2519 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 35/2519 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว โจทก์รู้ถึงสิทธิของโจทก์อันจะเรียกร้องให้คืนเงินลาภมิควรได้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2519 แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2521 เป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 35/2519 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2519 และคู่ความได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12ธันวาคม 2520

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า การฟ้องเรียกเงินคืนของโจทก์เป็นกรณีลาภมิควรได้ ต้องฟ้องภายในกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 คือวันที่ 11พฤศจิกายน 2518 ที่จำเลยรับเงินราคาบ้านจากโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์ยังไม่อาจรู้ได้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนนับแต่วันที่โจทก์ได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาให้ตนแพ้คดี คือวันที่ 12 ธันวาคม 2520 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 10,000 บาทและดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419ในกรณีที่นิติกรรมเป็นโมฆะ สิทธิเรียกคืนทรัพย์ที่กระทำเพื่อชำระหนี้ของฝ่ายผู้เสียเปรียบย่อมเกิดขึ้นทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าฝ่ายโจทก์ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนเงินนั้นแต่เมื่อใดตามธรรมดาเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท่านว่าเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงบทบัญญัตินั้นแล้ว ผู้ใดอ้างว่าไม่รู้จะต้องแสดงให้เห็นพฤติการณ์เฉพาะตัวเป็นพิเศษโดยแน่ชัดว่าตนไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้เช่นนั้นหรืออีกนัยหนึ่ง โจทก์ผู้ฟ้องเรียกเงินคืนย่อมมีสิทธิที่จะสืบแสดงว่าโจทก์ไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้ว่านิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสารสำคัญในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานคู่ความเสีย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานคู่ความในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3), 247

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานคู่ความตามนัยดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่

Share