คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่ง
การเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ ดังนั้นเมื่อกิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุกำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 193,650 บาท แก่โจทก์โดยคำนวณตามระยะเวลาทำงานของโจทก์ แต่ไม่พิจารณาเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยผิดสัญญาจ้างนั้นชอบหรือไม่ เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายคือวิศวกรอาวุโส ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,365 บาท กำหนดรับค่าจ้างทุกวันที่ 1 ของเดือน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินจำนวน 5,760,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 5,760,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ตามสิทธิไปแล้วจำนวน 236,228 บาท ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2545 เหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากในช่วงปี 2544 ถึง 2545 การผลิตคอมพิวเตอร์หรือกิจการเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ประสบวิกฤตในการดำเนินธุรกิจ เพื่อพยุงฐานะกิจการของจำเลย จำเป็นต้องยุบหน่วยงานและอัตราพนักงานลงบางส่วน โดยพนักงานที่จะลดอัตราลงนั้นจะพิจารณาจากอายุงาน ค่าจ้าง และมาตรฐานการทำงานโดยมิได้กลั่นแกล้งผู้ใด โจทก์เต็มใจและสมัครใจขอเข้าอยู่ในจำนวนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นเป็นค่าเสียหายที่เลื่อนลอยเป็นเรื่องในอนาคต จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่เลิกจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 193,650 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ตำแหน่งสุดท้ายคือวิศวกรอาวุโส ทำงานตรวจสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงงานทั้งหมด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,365 บาท ผลการดำเนินงานของจำเลยในปี 2543 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ร้อยละ 26.8 ปี 2544 ถึง 2546 ผลการดำเนินงานเป็นกำไรอยู่ แต่ในปี 2546 กำไรลดลงอย่างมาก จำเลยมีกรรมการและอำนาจกรรมการตามเอกสารหมาย ล.1 ในการดำเนินคดี จำเลยมอบอำนาจให้นายประพันธ์ รุจิธัมโม หรือนางสาวอัญชัญ ทรัพย์ประเสริฐ ดำเนินคดีแทนตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2545 ผู้บริหารของจำเลยมอบอำนาจให้ นายประพันธ์ รุจิธัมโม เป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ ตามเอกสารหมาย ล.3 ต่อมานายประพันธ์เลิกจ้างโจทก์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2545 ตามเอกสารหมาย ล.4 สาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีแนวโน้มว่าในปี 2545 ยอดขายสินค้าจะลดลง จำเลยจึงวางแผนลดค่าใช้จ่าย โดยผู้บริหารจำเลยประชุมร่วมกันมีมติว่าจะลดอัตราพนักงานรายเดือนลงประมาณ 100 คน และจะคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างในแต่ละแผนก เฉพาะพนักงานที่มีอายุการทำงานมานาน เงินเดือนสูง ประสิทธิภาพในการทำงานสู้พนักงานในระดับเดียวกันไม่ได้ โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉันตามอุทธรณ์ของจำเลย ข้อแรกว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า แม้ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยยังมีกำไรอยู่ แต่ปีที่ล่วงมาลูกค้าลดการสั่งสินค้า และรายได้ของจำเลยลดลงจำนวนมาก ซึ่งจำเลยคาดการณ์ล่วงหน้าว่าในอนาคตจำเป็นต้องยุบหน่วยงานและลดอัตราพนักงานเพื่อให้มาตรฐานแห่งรายได้ยังคงเดิม โดยจำเลยมีหลักเกณฑ์ในการลดอัตราพนักงานด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะถูกเลิกจ้างไว้ และเลิกจ้างเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะถูกเลิกจ้างโดยได้จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีก เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้กิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้ยเหตุที่กำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางมานั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ เห็นว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น มิใช่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 193,650 บาท แก่โจทก์โดยคำนวณตามระยะเวลาทำงานของโจทก์ แต่ไม่พิจารณาเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยผิดสัญญาจ้างนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อสองว่า นายประพันธ์ รุจิธัมโม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ซึ่งมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share