คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ค. เจ้าบ้านแจ้งย้ายผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในบ้านต่อนายทะเบียนในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดารับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของ ค. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทของ ค. ตามมาตรา 1713 เมื่อผู้คัดค้านบรรลุนิติภาวะแล้ว มีอาชีพรับราชการและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 1718 จึงมีเหตุสมควรตั้งผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ร่วมกัน.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายคำพันธ์ ฮอมหนักกับนางจินดา ฮอมหนัก นายคำพันธ์ได้ถึงแก่กรรม มีทรัพย์มรดกหลายรายการและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันธ์
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายคำพันธ์หรือพัน ฮอมหนัก ที่บิดารับรองแล้วกับนางจันดี พุทธังผู้ร้องปกปิดฐานะทายาทของผู้คัดค้าน ทั้ง ๆ ที่นายคำพันธ์หรือพันอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันกับนายจันดีและผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันธ์หรือพันหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันฮอมหนัก ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันธ์หรือคำพันหรือพัน ฮอมหนัก ร่วมกับผู้ร้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันธ์ร่วมกับผู้ร้อง โดยอ้างว่านายคำพันธ์ไม่ยินยอมรับผู้คัดค้านเป็นบุตร และผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713, 1718 นั้น จากสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.1 และสำเนาหนังสือรับรองบุคคลเอกสารหมาย จ.2 ที่ผู้คัดค้านนำสืบแสดงต่อศาล ระบุว่า เจ้าบ้านหรือหัวหน้าครอบครัวบ้านเลขที่ 659/1 ถนนอินทรคีรี อำเภอแม่สอด จังหวัดตากคือ นายคำพันธ์ ฮอมหนัก ภรรยาคือ นางจันดี พุทธัง (มารดาผู้คัดค้าน)ส่วนบุตรคือ ผู้คัดค้านกับนางสาววรพงศ์ ฮอมหนัก (น้องสาวผู้ร้อง)ย่อมแสดงให้เห็นว่า นายคำพันธ์ได้ยอมรับฐานะความเป็นบุตรของผู้คัดค้านแล้ว เพราะการแจ้งย้ายบุคคลใดเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใดจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านเสียก่อนทั้งเจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนว่า บุคคลนั้นเข้ามาอยู่ในฐานะอะไร ถ้านายคำพันธ์ไม่ยอมรับว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร นายคำพันธ์ก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนว่า ผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในฐานะอื่นเช่นผู้อาศัยเป็นต้น การที่นายคำพันธ์แจ้งต่อนายทะเบียนว่าผู้คัดค้านเข้ามาอยู่ในฐานะบุตรของตน ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายคำพันธ์บิดาได้รับรองแล้ว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายคำพันธ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทของนายคำพันธ์ได้ตามมาตรา 1713 จากทางนำสืบของผู้ร้องก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 1718แต่อย่างใด กลับปรากฏจากทางนำสืบของผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านบรรลุนิติภาวะแล้ว ขณะนี้รับราชการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินจังหวัดตาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 1718 เพราะถ้าผู้คัดค้านเป็นบุคคลต้องห้ามดังกล่าว ผู้คัดค้านก็ย่อมเป็นข้าราชการไม่ได้ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกร่วมกัน และผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุผลอันสมควรตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อจะได้ช่วยกันระวังรักษาผลประโยชน์ของทายาท…”
พิพากษายืน.

Share