คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาขายฝากทำเมื่อ 30 กันยายน 2498 กำหนดไถ่ใน 15 เดือน วันสุดท้ายที่จะไถ่ได้คือวันที่ 31 ธันวาคม 2499 แต่วันนั้นและวันที่ 1 – 2 มกราคม 2500 เป็นวันหยุดราชการ ผู้ขายฝากจึงมีสิทธิขอไถ่ได้ในวันที่ 3 มกราคม 2500 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161
ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ได้ในกำหนดแล้ว ผู้ซื้อฝากบิดพลิ้วและข่มขู่ให้ผู้ขายฝากทำหนังสือขึ้นว่าสัญญาขายฝากหมดกำหนดไถ่ถอนแล้ว และทรัพย์หลุดเป็นสิทธิแล้ว ซึ่งไม่ตรงกับความจริง นั้น หนังสือนั้นไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความว่าผู้ขายฝากสละสิทธิไถ่ถอน และไม่ทำให้ผู้ขายฝากหมดสิทธิไถ่ถอน
ขายฝากกัน 7 แสนบาท แต่ระบุในสัญญาเป็น 868,000 บาท โดยผู้ซื้อฝากคิดเอาผลประโยชน์อีกร้อยละ 2 ต่อเดือน ใน 1 ปี นั้น ย่อมทำได้ และเป็นสินไถ่ตามมาตรา 499 ที่ผู้ขายฝากต้องไถ่ในราคานี้ ไม่ฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วเช่าจากโจทก์ ๑๕ เดือน ครบกำหนดแล้วไม่ไถ่และได้เลิกการเช่ากันโดยจำเลยรับเงินค่าขนย้าย ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วไม่ออก จึงขอให้ขับไล่และส่งมอบบ้านเช่าคืน จำเลยให้การว่าได้ใช้สิทธิไถ่ในกำหนดแล้วโจทก์ไม่ทำการไถ่ถอนให้ จำเลยเคยทำหนังสือหลุดเป็นสิทธิจริง แต่โดยถูกข่มขู่ จะให้ตำรวจจับฐานออกเช็คไม่มีเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลย ๆ ได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยกลับเป็นโจทก์ฟ้องขอไถ่ในราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาท ยอดเงินขายฝากที่ทำไว้ ๘๖๘,๐๐๐ บาทนั้น จำเลยคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ใน ๑ ปี เป็นเงิน ๑๖๘,๐๐๐ บาทซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้การดังฟ้อง สำนวนแรก
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาแล้ว พิพากษสาให้จับไล่นางหมุยแช ในสำนวนแรก และยกฟ้องของนางหมุยแช ในสำนวนหลัง
นางหมุยแช อุทธรณ์ ทั้ง ๒ สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องนายวิชัยในสำนวนแรก และให้นายวิชัยรับการไถ่ถอน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ในสำนวนหลัง
นายวิชัย ฎีกาทั้ง ๒ สำนวน
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาขายฝากได้ทำกันเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๙๘ กำหนดไถ่ใน ๑๕ เดือน วันสุดท้ายที่ผู้ขายฝากจะใช้สิทธิไถ่ได้ตกวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๙ แต่ปรากฏว่าวันที่ ๓๐ – ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๙ และวันที่ ๑ – ๒ มกราคม ๒๕๐๐ เป็นวันหยุดราชการ ฉะนั้น การที่โจทก์จำเลยนัดไป-ไถ่ถอนทางทะเบียนเมื่อวันที่๓ มกราคม ๒๕๐๐ จึงไม่ใช่เรื่องขยายเวลาไถ่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๖ กรณีต้องด้วย มาตรา ๑๖๑ นางหมุยแซยังมีสิทธิไถ่ได้อยู่ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางหมุยแช พร้อมที่จะไถ่ได้ด้วยเช็คของผู้จะซื้อที่ดินแล้ว แต่นายวิชัยบิดพลิ้วไม่ยอมจดทะเบียนไถ่ให้เอง ส่วนเอกสาร ล.๑ ที่มีข้อความว่า สัญญาขายฝากหมดกำหนดไถ่ถอนและทรัพย์สินที่ขายฝากหลุดเป็นสิทธิแก่นายวิชัยแล้วนั้น ก็เชื่อว่าได้มีการข่มขู่จะให้ตำรวจจับจริงฐานออกเช็คไม่มีเงินและถึงอย่างไร เอกสาร ล.๑ นี้ก็ไม่ใช่สัญญาประนีประนอม ว่านางหมุยแช สละสิทธิการไถ่ เป็นแต่การกล่าวข้อความซึ่งไม่เป็นความจริง หาทำให้ากรที่นางหมุยแช ได้ใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้วกลายเป็นหมดสิทธิไถ่ไปได้ไม่
ส่วนปัญหาว่าจะต้องไถ่ในราคาเท่าใดนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ศาลอุทธรณ์ว่า การขายฝากย่อมเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ แต่ตามมาตรา ๔๙๙ แสดงว่า ผู้ซื้อฝากอาจกำหนดสินไถ่เพิ่มจากราคาที่ขายฝากเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ ฉะนั้น การที่นายสิชัยคิดเอาผลประโยชน์ในการซื้อฝากอีกร้อยละ ๒ ต่อเดือน ใน ๑ ปีแล้วระบุลงในสัญญาว่าขายฝากกัน ๘๖๘,๐๐๐ บาท จึงเท่ากับเป็นการกำหนดสินไถ่กันไว้ตาม มาตรา ๔๙๙ นั่นเอง ไม่เป็นการฝ่าฝืนความสงบเรียกร้อยหรือศีลธรรมอันดีอย่างไร
จึงพิพากษาแก้ให้นายวิชัยรับไถ่ถอน ในราคา ๖๘๖,๐๐๐ บาท โดยให้โจทก์นำเงินจำนวนนี้มาวางศาลในเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้น ให้ทรัพย์สินที่ขายฝากหลุดเป็นสิทธิแก่นายวิชัย นอกนั้นยืน

Share