คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7077-7079/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯ ข้อ 45 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง หากเป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และให้หมายความถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย ดังนั้น การจ้างพนักงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวจึงต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือระหว่างรัฐวิสาหกิจและพนักงาน โดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ในสัญญาจ้างเป็นหนังสือนั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมามี พ.ร.ฎ.ยุบเลิกองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ฯ จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 โดยจ่ายค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีมติคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีให้จ้างโจทก์ทั้งสามเพื่อช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วว่าจ้างโจทก์ทั้งสามเรื่อยมาโดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือหรือกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเสร็จสิน และต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2548 การจ้างโจทก์ทั้งสามให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีจึงมิได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ ไม่เข้าเงื่อนไขของการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่จะเข้าข้อยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสาม คนละ 80,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีคนละ 13,166 บาท 15,396 บาท 15,071 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีทุกระยะ 7 วันนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามและจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,904 บาทแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสิบให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสามแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าชดเชยเพียงอย่างเดียว ส่วนประเด็นอื่นขอสละทั้งหมด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสิบทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบประการเดียวว่า จำเลยทั้งสิบต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 แล้วได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2543 คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจึงได้มีมติให้จ้างพนักงานและลูกจ้างเพื่อให้ช่วยปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ จึงได้จ้างโจทก์ทั้งสามกับลูกจ้างอื่นเพื่อช่วยในการชำระบัญชีเป็นการชั่วคราวในเดือนเมษายน 2542 และจ้างโจทก์ทั้งสามต่ออีกหลายครั้ง การที่จำเลยทั้งสิบจ้างโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานมีลักษณะเป็นครั้งคราว เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง หากเป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย ดังนั้น การจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวจึงต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือระหว่างรัฐวิสาหกิจและพนักงาน โดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ในสัญญาจ้างเป็นหนังสือนั้นด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ.2541 จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 โดยจ่ายค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีมติคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีให้จ้างโจทก์ทั้งสามเพื่อช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วว่าจ้างโจทก์ทั้งสามเรื่อยมาโดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือหรือกำหนดระยะเวลาจ้างกันไว้ เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเสร็จสิ้น และต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2548 การจ้างโจทก์ทั้งสามให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีจึงมิได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ ไม่เข้าเงื่อนไขของการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่จะเข้าข้อยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสิบฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share