คำวินิจฉัยที่ 19/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๒

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เรื่อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลฎีกา
ระหว่าง
ศาลปกครองสูงสุด

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า เดิม) ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า เดิม) โดยนายบัญญัติ วิสุทธิมรรค พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ความว่า กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า เดิม) โจทก์ ยื่นฟ้องนายปัญญา ส่งเจริญ ที่ ๑ นายจำเริญ อัศวเรืองชัย ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๒๘๒/๒๕๓๖ ว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้รับทุนและลาไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ โดยจำเลยที่ ๑ สัญญาว่าเมื่อเสร็จการฝึกอบรมแล้วจำเลยที่ ๑ จะรับราชการในสังกัดโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน และในกรณีผิดสัญญาจำเลยที่ ๑ จะชดใช้
ทุนให้แก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับเท่ากับทุนที่ต้องชดใช้คืน โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ เดินทางไปฝึกอบรมเป็นเวลา ๑ ปี ๑๑ เดือน ๑๗ วัน โดยรัฐบาลนอร์เวย์จ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท จึงได้รับเงินทุนจากรัฐบาลนอร์เวย์จำนวน ๔๗๐,๙๖๗.๗๕ บาท จำเลยที่ ๑ กลับมาปฏิบัติราชการต่อจนถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒ และได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติราชการ ๙ ปี ๑ เดือน ๒๔ วัน แต่ได้นำไปหักชดใช้ทุน ก.พ. ที่จำเลยที่ ๑ ได้รับและไปศึกษาอบรมมาแล้วก่อนหน้านั้น จึงไม่มีเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้ทุนทั้งหมดพร้อมเบี้ยปรับเป็นเงิน ๙๔๑,๙๓๕.๕๐ บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๔๒,๐๙๖.๒๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๙๔๑,๙๓๕.๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๖๒๙/๒๕๓๙ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๕๕๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๗๐๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๕๕/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๒ ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ กลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ และได้ลาออกจากราชการไป รวมเวลารับราชการ ๓ ปี ๕ เดือน ๒๐ วัน โดยขณะกลับเข้ารับราชการนั้น จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๘๙/๒๕๔๔ ว่า ผู้ฟ้องคดีขอกลับเข้ารับราชการ และผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกรมเจ้าท่าที่ ๗๗๓/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ให้บรรจุผู้ฟ้องคดีเข้ารับราชการ แต่ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ สำนักงานเลขานุการกรม เพิกเฉยละเลยไม่ดำเนินการตามที่ผู้ฟ้องคดีขอทำสัญญาผ่อนผันให้นับเวลาที่กลับเข้ารับราชการใหม่เป็นการชดใช้ทุนตามสัญญาของข้าราชการที่ลาไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๕ ที่ผ่อนผันให้นับเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการเป็นระยะเวลาการรับราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ซึ่งกระทรวงการคลังแจ้งมติตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๐๒/ว ๙๐ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๖ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒.๒ วรรคหนึ่งและวรรคสาม และผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่จัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จนระยะเวลาล่วงเลยมาสี่ปี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำสัญญาผ่อนผันให้นับเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการเป็นระยะเวลาการรับราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยกับผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลบังคับนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีนับระยะเวลาการรับราชการใหม่เป็นการชดใช้ทุนตามสัญญาผ่อนผัน โดยให้นับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการเป็นต้นไป ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการทำสัญญาผ่อนผันให้นับระยะเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการใหม่เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ จนกระทั่งผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นระยะเวลารับราชการชดใช้ทุนตามสัญญา ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๑๘๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ แก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ข้อ ๒.๒ โดยเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นเงินเดือนที่ได้รับในระหว่างลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยให้ครบทั้งจำนวน และเมื่อผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วให้ทำสัญญาผ่อนผันให้นับระยะเวลาขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ (รวมระยะเวลา ๓ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน) เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษา ภายในหกสิบวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจึงขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะไม่อาจขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เต็มจำนวน เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้หักระยะเวลารับราชการชดใช้ทุนซึ่งมีผลทำให้หนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเกิดความไม่แน่นอนว่าจะบังคับได้เป็นจำนวนเท่าใด ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดแนวทางที่ผู้ร้องจะขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถูกขัดแย้ง โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในปัญหาการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ขัดแย้งกัน ดังต่อไปนี้
๑. ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือของศาลปกครองสูงสุด
๒. ผู้ร้องมีสิทธิขอบังคับคดีเต็มจำนวนตามคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ เพียงใด
๓. หากผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสียก่อนที่จะขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า
๓.๑ ผู้ร้องจะต้องระบุจำนวนเงินใดลงในสัญญาผ่อนผันเป็นยอดเงินที่จะต้องชดใช้ตามสัญญาเดิม ระหว่างยอดเงินที่กระทรวงการคลังตรวจสอบได้เป็นเงิน ๙๔๑,๙๓๕.๕๐ บาท หรือจำนวนเงินที่ศาลฎีกาพิพากษาคือ ๗๐๖,๐๐๐ บาท
๓.๒ ผู้ร้องจะต้องคำนวณอัตราผ่อนผันให้นายปัญญา ส่งเจริญ วันละเท่าใด เนื่องจากเมื่อทำสัญญาผ่อนผันจะต้องยินยอมรับราชการชดใช้เป็นระยะเวลาสองเท่าของระยะเวลารับราชการที่ยังขาดอยู่ (กล่าวคือ สองเท่าของระยะเวลาที่จะต้องรับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา ๓ ปี ๑๑ เดือน ๔ วัน ซึ่งเท่ากับ ๗ ปี ๑๑ เดือน ๘ วัน)
๓.๓ ในช่วงระยะเวลารับราชการที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ทำสัญญาผ่อนผันเป็นระยะเวลารับราชการชดใช้ทุนจะคิดดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้หรือไม่
๔. ขณะนี้นายปัญญา ส่งเจริญ ได้ถูกไล่ออกจากราชการไปเมื่อปี ๒๕๔๔ และไม่มาทำสัญญาผ่อนผัน ทำให้ผู้ร้องไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ ผู้ร้องจะมีสิทธิบังคับคดีเต็มจำนวนตามคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่
เลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง แจ้งให้นายปัญญา ส่งเจริญ และนายจำเริญ อัศวเรืองชัย ซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทำคำชี้แจงภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
นายปัญญา ส่งเจริญ ยื่นคำชี้แจงลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีความชัดเจนนำไปปฏิบัติได้โดยผู้ร้องในฐานะหน่วยราชการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ผู้ร้องไม่ยอมส่งร่างสัญญาผ่อนผันให้พิจารณา จึงไม่อาจดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด และควรพิจารณาถึงความยุติธรรมด้วยว่า การรับทุนเป็นระยะเวลา ๑ ปี ๑๑ เดือน ๑๖ วัน เป็นทุนของรัฐบาลอื่นมิใช่ทุนของรัฐบาลไทย แต่กลับต้องชดใช้ทุนถึง ๗ ปี ๑๑ เดือน ๘ วัน และหากปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วทำให้ระยะเวลาที่จะต้องชดใช้ทุนตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นลดลงไป ๓ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน เกณฑ์ในการคำนวณค่าปรับหรือเงินที่ต้องชดใช้ที่อาจเกิดขึ้นควรถือเอาอัตราส่วนของระยะเวลาที่เหลือกับระยะเวลาที่ต้องชดใช้ทั้งหมด ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นหลักให้ผู้ร้องปฏิบัติต่อไป
นายจำเริญ อัศวเรืองชัย ไม่ยื่นคำชี้แจง
ผู้ร้องแถลงส่งเอกสารเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ กรณีที่ผู้ร้องได้มีหนังสือที่ คค ๐๓๐๕/๓๙๔๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมาทำสัญญาผ่อนผันตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และได้มีหนังสือที่ คค ๐๓๐๕/๙ ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าตัวอย่างสัญญาเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายหนังสือกระทรวงการคลังที่ คค ๐๕๐๒/ว ๙๐ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๖ ซึ่งผู้ฟ้องคดีทราบดีแล้วและให้มาทำสัญญาภายใน ๗ วัน นับแต่ได้รับหนังสือ และกรณีที่ผู้ร้องยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีต่อศาลปกครองกลาง ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่า ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดีโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาผ่อนผันให้นับระยะเวลาขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีจะมาขอหมายบังคับคดีไม่ได้ คงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีจะเป็นผู้ขอหมายบังคับคดีเท่านั้น ส่วนในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามข้อ ๒.๒ ของมติคณะรัฐมนตรี โดยเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นเงินเดือนที่ได้รับในระหว่างลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยให้ครบทั้งจำนวน และผู้ฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ชำระหนี้นั้น เป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีที่ศาลยุติธรรมและมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในเรื่องนี้อยู่แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องไปขอออกหมายบังคับคดีที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางไม่อาจออกหมายบังคับคดีให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒
นายปัญญา ส่งเจริญ ยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดบังคับผู้ร้องทำสัญญาผ่อนผันโดยให้นับระยะเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ (รวมระยะเวลา ๓ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน) เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุน มิได้ให้สิทธิผู้ร้องบังคับให้ทำสัญญาเกินกว่าระยะเวลาที่ระบุไว้ในคำพิพากษา และเมื่อทำสัญญาผ่อนผันแล้วย่อมมีผลย้อนหลังทันทีและถือว่าได้รับราชการครบถ้วนตามสัญญาผ่อนผันดังกล่าวแล้วโดยไม่จำต้องมีผู้ค้ำประกัน การที่ผู้ร้องให้ทำสัญญาผ่อนผันตามมติของคณะรัฐมนตรีเป็นสองเท่าของระยะเวลารับราชการชดใช้ทุน คือ ๗ ปี ๑๐ เดือน ๘ วัน ซึ่งเมื่อหักกับระยะเวลาที่ได้รับราชการมาแล้วยังคงเหลือระยะเวลาอีก ๔ ปี ๔ เดือน ๒๑ วัน และต้องให้มีผู้ค้ำประกันด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์การผ่อนผันให้นับระยะเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการในข้อที่ ๓ กำหนดให้ระยะเวลารับราชการชดใช้ทุนตามสัญญาผ่อนผันจะต้องไม่เกินเวลาที่ข้าราชการ ผู้นั้นครบเกษียณอายุราชการ ซึ่งในวันที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งมานั้นคงเหลือเวลารับราชการไม่เกิน ๓ ปี

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด”
กรณีนี้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า เดิม) ผู้ร้อง ฟ้องนายปัญญา ส่งเจริญ ที่ ๑ นายจำเริญ อัศวเรืองชัย ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดในศาลฎีกา ส่วนนายปัญญาฟ้องผู้ร้องต่อศาลปกครองจนคดีถึงที่สุดในศาลปกครองสูงสุด โดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด ในคดีทั้งสองมีมูลความแห่งคดีมาจากสัญญารับทุนไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ของนายปัญญา โดยศาลยุติธรรมพิพากษาให้นายปัญญาชดใช้ทุนตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ หากไม่ชำระให้นายจำเริญชดใช้แทน ส่วนศาลปกครองพิพากษาให้ผู้ร้องเรียกให้นายปัญญาชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นเงินเดือนที่ได้รับในระหว่างลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยให้ครบทั้งจำนวน แล้วให้ทำสัญญาผ่อนผันให้นับระยะเวลาที่นายปัญญาขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด คำพิพากษาของทั้งสองศาลจึงต่างพิพากษาเกี่ยวกับการบังคับให้นายปัญญาและนายจำเริญชดใช้ทุนตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรม ณ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเหตุให้คู่ความไม่อาจบังคับหรือปฏิบัติการชำระหนี้ได้ถูกต้อง จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ และถือได้ว่าเป็นกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ชอบที่คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ แม้ว่าผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลปกครองซึ่งพิพากษาภายหลังถึงที่สุด แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด เมื่อปรากฏว่าคู่ความยังคงไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการสมควรรับคำร้องนี้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๔
การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้นายปัญญาชำระเงิน ๗๐๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ร้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ข้อ ๒.๒ โดยให้ผู้ร้องทำสัญญาผ่อนผันให้นับระยะเวลาที่นายปัญญาขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษา เมื่อนายปัญญาชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นเงินเดือน ซึ่งได้รับในระหว่างลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยครบทั้งจำนวนแล้วนั้น กรณีจึงต้องพิจารณาว่าคู่ความต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของทั้งสองศาลอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีที่นายปัญญา ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้นายปัญญาเป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้นับระยะเวลาที่ขอกลับเข้ารับราชการเป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษาได้ แต่การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นหน้าที่ของนายปัญญาและผู้ร้องที่จะต้องปฏิบัติการทำสัญญาผ่อนผันต่อกันเสียก่อนด้วย จึงจะมีผลให้ถือว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษาอันจะนำไปหักกับหนี้ตาม คำพิพากษาของศาลฎีกาได้ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการทำสัญญาผ่อนผัน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาของทั้งสองศาลเป็นไปได้ จึงเห็นสมควรให้ผู้ร้องบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อน ต่อเมื่อได้มีการทำสัญญาผ่อนผันตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงให้นับระยะเวลาที่นายปัญญาขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ (รวมระยะเวลา ๓ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน) เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญา ลาศึกษา โดยให้คำนวณระยะเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนเงินตามสัญญาผ่อนผันแล้วนำไปหักกับหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและบังคับคดีในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาส่วนที่เหลือต่อไป และเมื่อได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ร้องบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนดังกล่าวแล้ว ปัญหาว่าผู้ร้องจะต้องทำสัญญาผ่อนผันตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีของศาลปกครอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดขัดแย้งกันระหว่างศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า เดิม) ผู้ร้อง บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อน เมื่อได้มีการทำสัญญาผ่อนผันตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว จึงให้นับระยะเวลาที่นายปัญญา ส่งเจริญ ขอกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ (รวมระยะเวลา ๓ ปี ๕ เดือน ๑๗ วัน) เป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษาด้วย โดยให้คำนวณระยะเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนเงินตามสัญญาผ่อนผันแล้วนำไปหักกับหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและบังคับคดีในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาส่วนที่เหลือต่อไป

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share