คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7097/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 ซึ่งตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ แล้วจำเลยทั้งสองไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 จึงเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวยังถือเป็นขั้นตอนและวิธีการนำคดีไปสู่ศาลตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 วรรคท้าย ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะดำเนินการใดในเรื่องเดียวกันที่ศาลแรงงานกลางอีกไม่ได้ ซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้คดี จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 10 ที่ 13/2546 โดยให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระจำนวน 50,000 บาท ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 10 ที่ 13/2546 สั่ง ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2546 แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 10 มีคำสั่งที่ 13/2546 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 ซึ่งตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” เมื่อปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาววรัญญาพนักงานตรวจแรงงาน ได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 10 ที่ 13/2546 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจและเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ แล้วจำเลยทั้งสองไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 10 ที่ 13/2546 จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวยังถือเป็นขั้นตอนและวิธีการนำคดีไปสู่ศาลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงจะดำเนินการใดในเรื่องเดียวกันนี้ในศาลแรงงานกลางอีกไม่ได้ซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้คดี จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ 10 ที่ 13/2546 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share