คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ร้อยตำรวจเอก ป. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวน ท. กับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่ ท. กับพวกให้การรับสารภาพว่าก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว ท. กับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของจำเลยนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. ยังมิได้ทำการสอบสวน ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุม ท. กับพวก กับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิงถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรในแต่ละครั้งนั้นก็เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ เมื่อคดีที่ร้อยตำรวจเอก ป. สอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้นเป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,998,132 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.อึ้งฮั่วเส็ง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 55,252 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 190,456 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2534 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ได้มีคนร้ายร่วมกันลักยางรถยนต์และล้อแม็ก 41 รายการ รวมราคา 1,998,132 บาท ของโจทก์ร่วมไป ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2534 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายประเทืองกับพวกรวม 5 คน โดยกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์ยางรถยนต์และล้อแม็กของโจทก์ร่วมรวม 3 รายการ รวมราคา 31,700 บาท ชั้นสอบสวนนายประเทืองให้การว่าได้นำยางรถยนต์และล้อแม็กที่ลักมาไปขายที่ร้านของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปตรวจค้นร้านของจำเลยและยึดยางรถยนต์และล้อแม็ก 19 รายการ มาเพื่อทำการตรวจสอบ ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2534 จำเลยเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี ชั้นสอบสวนร้อยตำรวจเอกประเชิญพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ารับของโจรเพื่อค้ากำไร จำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอกประเชิญสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องนายประเทืองกับพวกและจำเลย แต่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเฉพาะจำเลย โดยสั่งฟ้องนายประเทืองกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ยางรถยนต์และล้อแม็กรวมราคา 31,700 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกนายประเทือง 3 ปี 4 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2160/2535 ของศาลชั้นต้น ต่อมาปี 2538 พนักงานอัยการมีหนังสือถึงพันตำรวจตรีสุนทรพนักงานสอบสวนในคดีนี้ว่าการกระทำความผิดของนายประเทืองกับพวกและจำเลยนั้น แยกได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการกระทำความผิดในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด และช่วงที่ 2 เป็นการกระทำความผิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลา 2 นาฬิกา ซึ่งพนักงานอัยการได้สั่งไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่สำหรับการกระทำความผิดในช่วงแรกนั้น พนักงานสอบสวนยังมิได้ดำเนินการสอบสวน พันตำรวจตรีสุนทรจึงได้สอบสวนคดีนี้และดำเนินคดีแก่นายประเทืองกับพวกและจำเลยซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายประเทือง 5 ปี 3 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1743/2539 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอ้างในฎีกาประการแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการกระทำอันเดียวกับความผิดในคดีแรกที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นไปโดยมิชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงสั่งฟ้องคดีอีกไม่ได้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีร้อยตำรวจเอกประเชิญเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวนนายประเทืองกับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายคือทรัพย์ 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่นายประเทืองกับพวกให้การรับสารภาพว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว นายประเทืองกับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของจำเลยนั้นพยานยังมิได้ทำการสอบสวน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วตรงกับรายงานการสอบสวนคดีอาญาที่ 741/2534 ที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาเป็นพยานจำเลย ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมนายประเทืองกับพวก กับบันทึกคำให้การของนายมงคลในชั้นสอบสวน ในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิงถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ความจากการสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้วอีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรในแต่ละครั้งนั้นเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ พยานจำเลยในข้อนี้ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีที่ร้อยตำรวจเอกประเชิญสอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้น เป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายก็เป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share