คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับน้องสาวของโจทก์ไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสาร ราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรส ณ ที่ใดมาก่อนเพื่อขอจดทะเบียนสมรส กับโจทก์ นายทะเบียนจึงจดทะเบียนสมรสให้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาววันเพ็ญ ต่อมาจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทะเบียนสมรสซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จในทะเบียนสมรสอันเป็นเอกสารมหาชนและเอกสารราชการที่มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ขอจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ นายทะเบียนหลงเชื่อถ้อยคำของจำเลยจึงจดทะเบียนสมรสให้ ทำให้โจทก์และประชาชนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมุลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ให้จำคุก ๔ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท รอการลงโทษจำคุก ๒ ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นและไม่รอการลงโทษ
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องถ้าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็ขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาววันเพ็ญ น้องโจทก์ และต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนกับโจทก์โจทก์น่าจะไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาววันเพ็ญน้องโจทก์ไว้ก่อนแล้ว วันเกิดเหตุจำเลยได้แจ้งต่อนายผิน นายทะเบียนสำนักทะเบียนเขตพระนครซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่า ไม่เคยจดทะเบียนสมรส ณ ที่ใดมาก่อน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน ในการแจ้งความดังกล่าวโจทก์ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ได้
ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยนั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้วไม่ควรแก้ไข
พิพากษายืน

Share