คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยรวมอยู่ ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี มีกำหนดเวลา 12 เดือนเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วมีการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไป อีก 12 เดือน ครบกำหนดในวันที่ 6 สิงหาคม 2535แล้วหลังจากนั้นไม่มีการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ออกไปอีกและจำเลยก็ไม่ได้เบิกและถอนเงินออกจากบัญชีอีกเพียงแต่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์รวม4 ครั้ง เท่านั้น ดังนี้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงในวันที่6 สิงหาคม 2535 หลังจากวันที่ 6 สิงหาคม 2535 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น คงคิดดอกเบี้ยได้ตามธรรมดา โดยไม่ทบต้นเท่านั้น และดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิ คิดจากจำเลยต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 618,002.25 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 493,029.82 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 หลังจากนั้นจำเลยมิได้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยนับจากวันครบกำหนดสัญญาแล้ว เมื่อคำนวณยอดหนี้ถึงวันที่สิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 3,004,134.49 บาทเมื่อโจทก์นำเงินฝากประจำ 3 เดือน ของจำเลยที่มอบให้โจทก์ไว้เป็นประกันพร้อมดอกเบี้ยมาชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามฟ้องอีก โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเมื่อสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นสุดเมื่อใด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงเมื่อใดและจำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2533จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน3,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 3,000,000 บาทส่วนวงเงินที่เกิน 3,000,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ16.5 ต่อปีกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยทบเป็นเงินต้นได้ เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยได้มอบสมุดเงินฝากประจำของจำเลยจำนวนเงิน3,000,000 บาท ให้โจทก์ไว้ หากผิดนัดยอมให้โจทก์หักเงินในบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทันที ต่อมาวันที่2 มิถุนายน 2534 จำเลยได้ต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีก12 เดือน นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2535จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา โดยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีหลังจากครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ต่อออกไปแล้ว จำเลยไม่เคยเบิกหรือถอนเงินออกจากบัญชีอีกคงมีแต่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้รวม 4 ครั้ง เป็นเงิน171,625 บาท วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 โจทก์นำเงินฝากประจำของจำเลยหักชำระหนี้โจทก์จำนวน 3,102,859.38 บาท รวมโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว 3,274,484.38 บาท
สำหรับปัญหาที่ว่า บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดเมื่อใดนั้น เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งได้ทำขึ้นเมื่อวันที่6 สิงหาคม 2533 มีกำหนดเวลา 12 เดือนเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วมีการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีก 12 เดือนซึ่งครบกำหนดในวันที่ 6 สิงหาคม 2535 หลังจากนั้นไม่ได้ต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีก และจำเลยก็ไม่ได้เบิกและถอนเงินออกจากบัญชีอีก เพียงแต่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์รวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 171,625.38 บาทเท่านั้น เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้ทำขึ้นเมื่อวันที่6 สิงหาคม 2533 มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือนเมื่อมีการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีก 12 เดือน ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม 2535 เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการต่อสัญญาอีก สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 6 สิงหาคม 2535 หลังจากวันที่ 6 สิงหาคม 2535 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น คงคิดดอกเบี้ยได้ตามธรรมดาโดยไม่ทบต้นเท่านั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยโดยวิธีทบต้นตลอดมาจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 จึงเป็นการไม่ชอบ
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นสุดเพียงวันที่ 6 สิงหาคม 2535 แล้ว โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยอีกไม่ได้ ดังนั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยจึงต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ในขณะนั้นคือในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยว่า จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ในวันที่ 6 สิงหาคม 2535 อันเป็นวันที่สัญญาสิ้นสุดลงจำนวน2,981,862 บาทเศษ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงยอดหนี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำเงินในบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน ของจำเลย จำนวนเงินฝาก3,000,000 บาท ที่จำเลยมอบสมุดเงินฝากให้โจทก์ไว้เป็นประกัน โดยมีเงื่อนไขยอมให้โจทก์หักเงินในบัญชีดังกล่าวชำระหนี้โจทก์ได้ตามเอกสารหมาย จ.5 มาหักชำระหนี้โจทก์ในวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อคำนวณหักกลบลบหนี้กันในขณะนั้นแล้ว จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share