แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยระบุเหตุเลิกจ้างโจทก์ไว้ในคำสั่งเลิกจ้าง เมื่อจำเลยถูกฟ้องจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเป็นเงินจำนวนแน่นอนมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือน ถือว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติค่าน้ำมันรถดังกล่าวจึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ชอบที่จะต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาท และได้ค่าน้ำมันรถเป็นประจำเดือนละ 5,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,000 บาท ค่าน้ำมันรถค้างจ่ายจำนวน 32,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 90,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงาน ขาดงานบ่อย จำเลยไม่เคยตกลงให้ค่าน้ำมันรถแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ได้รับค่าจ้างคือเงินเดือนเดือนละ25,000 บาท และค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยค้างจ่ายค่าน้ำมันรถแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 32,000 บาทเมื่อวันที่ 13ธันวาคม 2534 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าอ้างว่าจำเลยอยู่ระหว่างการปรับปรุงกิจการงานมีน้อย จึงมีความจำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้พนักงานอื่นมีงานทำจึงขอปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งไม่เป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47จำเลยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ชัดแจ้งในคำสั่งเลิกจ้างแล้วจะยกเอาเหตุอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งมาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ขาดสมรรถภาพ ขาดงานบ่อย เป็นเหตุนอกเหนือจากที่คำสั่งระบุไว้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 17,000 บาท ค่าน้ำมันรถค้างจ่ายเป็นเงิน32,000 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยมีสิทธิยกข้อต่อสู้ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงานขาดงานบ่อย เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) และฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่าการที่จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ว่าจำเลยอยู่ในระหว่างปรับปรุงกิจการ มีงานน้อย จึงมีความจำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้พนักงานอื่นมีงานทำ ขอปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยนั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นเหตุเลิกจ้างเพียงประการเดียว ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นข้อต่อสู้ จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ จำเลยจึงยกเหตุที่ว่า โจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงาน ขาดงานบ่อย เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (2)(3) ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 90,000 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะค่าน้ำมันรถเดือนละ 5,000 บาท ไม่ใช่ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นในปัญหานี้ได้ความว่า ค้าน้ำมันรถที่โจทก์ได้รับเดือนละ 5,000 บาท นี้ โจทก์ได้รับเป็นประจำทุกเดือนเป็นเงินจำนวนแน่นอนมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือนถือว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติค่าน้ำมันดังกล่าวจึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าน้ำมันรถที่โจทก์ได้รับจากจำเลยเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…”
พิพากษายืน.