แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคำฟ้องโจทก์ระบุชื่อจำเลยโดยมิได้ระบุว่าฟ้องนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี แต่ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยดำรงตำแหน่งนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มีหน้าที่ดำเนินการรับจดทะเบียน โอนทางทะเบียน และจดแจ้งการโอนทางทะเบียนลงในใบคู่มือจดทะเบียน ทั้งโจทก์ยังมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งยกเลิกการจดแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ กับให้จำเลยคืนใบคู่มือจดทะเบียนแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องตัวเจ้าพนักงานผู้ออกคำสั่งได้โดยไม่จำต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด
ในวันที่โจทก์ไปขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาท โจทก์มิได้นำรถยนต์พิพาทไปด้วย จึงไม่มีการตรวจรถตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 การโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ อันเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49 และ 50
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 โจทก์ซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 7344 อุบลราชธานี จากนางสาวธนิสรา จันทร์พิทักษ์ชัย จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี มีหน้าที่รับจดทะเบียน โอนทางทะเบียน และจดแจ้งการโอนทางทะเบียนลงในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2540 โจทก์นำรถคันดังกล่าวไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อโจทก์ จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนให้ แต่เมื่อถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2540 จำเลยกลับมีคำสั่งให้ยกเลิกการจดทะเบียนดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ขอจดทะเบียนโอนโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ คือ ยังไม่มีการตรวจสอบรถ ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 โจทก์นำใบคู่มือจดทะเบียนรถคันดังกล่าวไปยื่นเพื่อเสียภาษีประจำปี จำเลยมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานยึดใบคู่มือจดทะเบียนรถไว้ โดยอ้างว่าการโอนกรรมสิทธิ์มีปัญหาขัดข้อง การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกการจดทะเบียนโอนดังกล่าวของจำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนโอนรถคันดังกล่าวเป็นของโจทก์ และคืนใบคู่มือจดทะเบียนรถคันดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อรถคันดังกล่าวมาจากนางสาวธนิสรา จันทร์พิทักษ์ชัย แต่รถคันดังกล่าวเป็นของพันตำรวจโทอิทธิพร ปัญญาสาร ซึ่งกู้เงินจากนายบัณฑิต จันทร์พิทักษ์ชัย โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และพันตำรวจโทอิทธิพรมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถ สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ สำเนาทะเบียนบ้านและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจใบคำขอโอนรถ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความให้แก่นายบัณฑิตไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาโจทก์ชำระหนี้แทนพันตำรวจโทอิทธิพร และขอรับเอกสารดังกล่าวไปจากนายบัณฑิต หลังจากนั้นมีผู้กรอกข้อความในเอกสารดังกล่าวว่าพันตำรวจโทอิทธิพรได้โอนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวให้โจทก์และโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอจดแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อจึงรับดำเนินการให้และจ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถให้โจทก์ไป เมื่อโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 7344 อุบลราชธานี โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโอนกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าวและแม้ว่าจำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและเมื่อจำเลยตรวจพบว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะดำเนินการไม่ครบขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2531 ข้อ 35 กล่าวคือ การโอนรถโดยการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอโอนรถแล้วจะต้องตรวจสอบรถ โดยตรวจสอบความถูกต้องของเลขตัวรถ เลขเครื่องรถยนต์และสีของรถให้ถูกต้องตรงกับใบคู่มือจดทะเบียนรถ แต่โจทก์ไม่ได้นำรถคันดังกล่าวมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามระเบียบ จำเลยในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องแต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ลงวันที่ 17 มกราคม 2540 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียน โอนทางทะเบียน และจดแจ้งการโอนทางทะเบียน ลงในใบคู่มือจดทะเบียนรถ จึงมีอำนาจสั่งยกเลิกการจดแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าว อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในสังกัดกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดำเนินการรับจดทะเบียน โอนทางทะเบียนและจดแจ้งการโอนทางทะเบียนรถยนต์ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีลงในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2540 โจทก์นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 7344 อุบลราชธานี ไปขอโอนทางทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถและจำเลยดำเนินการให้ตามคำขอของโจทก์แล้วตามภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ เอกสารหมาย จ.8 ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2540 จำเลยมีคำสั่งให้ยกเลิกการจดแจ้งการโอนทางทะเบียนดังกล่าวโดยอ้างว่ามีการดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 และวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 โจทก์นำใบคู่มือจดทะเบียนรถดังกล่าวไปดำเนินการเสียภาษี จำเลยมีคำสั่งให้ยึดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไว้ ข้อที่ยังโต้แย้งเถียงกันตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ในคำฟ้องโจทก์จะระบุชื่อจำเลยโดยมิได้ระบุว่าฟ้องนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี แต่ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยดำรงตำแหน่งนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มีหน้าที่ดำเนินการรับจดทะเบียนโอนทางทะเบียนและจดแจ้งการโอนทางทะเบียนลงในใบคู่มือจดทะเบียน ทั้งโจทก์ยังมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งยกเลิกการจดแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ กับให้จำเลยคืนใบคู่มือจดทะเบียนแก่โจทก์ จึงเห็นได้ชัดว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องตัวเจ้าพนักงานผู้ออกคำสั่งได้โดยไม่จำต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ข้อที่ยังโต้เถียงกันตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองมีว่า ได้มีการดำเนินการตรวจรถครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนตามระเบียบพร้อมทั้งได้นำรถไปตรวจด้วยบันทึกการตรวจสอบรถเอกสารหมาย จ.6 ก็มีนายศรีเชาวน์ จันทะแจ่ม ลงลายมือชื่อระบุชัดเจนว่ามีการตรวจรถแล้ว เห็นว่า แม้ตามแบบคำขอโอนและรับโอนด้านหลังจะระบุว่ามีการตรวจรถแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายศรีเชาวน์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจรถมาเบิกความยืนยันต่อศาลว่า เนื่องจากเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไรจึงไม่ได้ตรวจสอบและลงชื่อในเอกสารดังกล่าว ทั้งนายศรีเชาวน์ก็ได้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย จึงเห็นได้ว่าหากไม่เป็นความจริงนายศรีเชาวน์คงไม่กล้าเบิกความดังกล่าวให้เป็นผลร้ายแก่ตนเอง และไม่มีเหตุผลที่จะเบิกความเข้าข้างฝ่ายใด นอกจากนั้นจำเลยยังมีนางสดใส ปัญญาสาร (เดิมชื่อนางดวงกมล ปัญญาสาร) มาเบิกความว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ไปขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาท โจทก์และดาบตำรวจสมนึกมาที่บ้านนางสดใสในช่วงบ่ายโดยนำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทมาแสดงว่า ได้มีการโอนมาเป็นของโจทก์แล้วจะขอยึดรถพิพาทของนางสดใส แต่นางสดใสไม่ยินยอม ยิ่งเพิ่มน้ำหนักพยานของจำเลยให้มั่นคงยิ่งขึ้น พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าในวันที่โจทก์ไปขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทนั้น โจทก์มิได้นำรถยนต์พิพาทไปด้วย จึงไม่มีการตรวจรถตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 การโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ อันเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49 และ 50 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ