แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ของที่โจทก์ขายคือตะกรันซึ่งมีสารแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์เจือปนอยู่ และของชนิดนี้ไม่เคยมีใครทำการซื้อขายกันมาก่อนคงมีแต่โจทก์เป็นผู้ขายรายเดียว ในการกำหนดราคาขายของดังกล่าวนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายซึ่งจำเลยอ้างว่าราคาที่กำหนดตามเงื่อนไขในเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และผู้ซื้อเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทผู้ซื้อสินค้าจากบริษัทโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ ดังนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ว่า โจทก์กำหนดราคาตามสัญญาซื้อขายต่ำตามที่อ้างข้างต้นจึงฟังไม่ได้ จึงนำเหตุนี้มาเป็นข้อพิจารณาว่าราคาที่โจทก์ขายนั้น ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ (4) ไม่ได้ และของที่โจทก์ขายนั้นไม่มีการซื้อขายกันมาก่อนทั้งไม่มีผู้ขายรายอื่นได้ทำการขายของตามที่โจทก์ขาย กรณีจึงไม่มีราคาของที่มีการขายจริงที่จำเลยจะนำมาพิจารณาเพื่อให้เห็นว่าราคาที่โจทก์ขายนั้นต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนที่จำเลยคิดคำนวณราคาของที่โจทก์ขายโดยยึดถือเอาราคาจากตารางราคาในหนังสือเมตัลบุลเลทิน ข่าวเหล็กกล้า และโลหะของโลก อันเป็นราคาต่างประเทศที่ตลาดลอนดอน นั้น ราคาที่กำหนดในหนังสือดังกล่าวนั้นเป็นการคำนวณราคาปริมาณเนื้อแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์ในเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันกับของที่โจทก์ขาย จำเลยจะใช้วิธีการคำนวณโดยหักค่ากรรมวิธีที่จะให้ได้เปอร์เซ็นต์ของแร่ดังกล่าวเท่ากันและหักค่าขนส่ง ค่าประกันภัยแล้วมาคิดเทียบเคียงกับของที่โจทก์ส่งไปขายนั้น กรรมวิธีในการผลิตที่จะเปลี่ยนสภาพเปอร์เซ็นต์ของเนื้อแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์ให้ได้เปอร์เซ็นต์ตามที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าสามารถทำได้ในประเทศไทยในขณะที่เกิดกรณีพิพาทจึงไม่อาจจะทราบได้เลยว่า ค่ากรรมวิธีในการผลิตดังกล่าวนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่าใด การที่จำเลยนำเอาค่ากรรมวิธีในการผลิตมาหาราคาเทียบเคียงกับของที่โจทก์ส่งออกจึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานของจำเลยกำหนดขึ้นมาเองโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจะมีความรู้ความสามารถหรือเข้าใจกรรมวิธีในการผลิตว่าจะต้องมีวิธีการที่ซับซ้อนเพียงใด ต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องใช้เทคนิค สูงเพียงใด แล้วเจ้าพนักงานของจำเลยจะรู้ได้อย่างไรว่า ค่ากรรมวิธีในการผลิตนั้นจะเป็นเท่าใด อันจะทำให้สามารถ หาราคาที่เทียบเคียงกันได้ ทั้งราคาที่จะนำมาคำนวณเทียบเคียงตามหนังสือดังกล่าวก็มิใช่ราคาในประเทศไทยที่โจทก์ส่งออกแต่เป็นราคาที่กำหนดซื้อขายกันในตลาดโลกที่ตลาดลอนดอนประเทศอังกฤษ หลักเกณฑ์ที่จำเลยนำมาเพื่อหาราคาตลาดของของที่โจทก์ขายไปจึงนำมาใช้กับกรณีของโจทก์ไม่ได้ เพราะมิใช่ราคาของชนิดเดียวกัน ณ ที่ส่งของออก จึงไม่มีกรณี ที่ทำให้เห็นว่าราคาที่โจทก์ตกลงซื้อขายไปนั้นมิใช่ราคาตลาด และในการที่โจทก์ขายของชนิดนี้ โดยการส่งไปขายนอกราชอาณาจักรนั้น เจ้าพนักงานผู้ตรวจปล่อยสินค้าก็ไม่ได้แจ้งว่าราคาว่าต่ำไปแต่ประการใด ทั้งในการกำหนดราคาขายของโจทก์เพื่อเปรียบเทียบกับราคาของที่กรมทรัพยากรธรณีประกาศสำหรับเสียค่าภาคหลวง ราคาที่โจทก์ขายก็สูงกว่าราคาตลาดตามประกาศของทรัพยากรธรณีหลายเท่า เชื่อได้ว่าราคาที่โจทก์ขายนั้นเป็นราคาในท้องตลาดมิใช่ราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ส่วนราคาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดขึ้นนั้นไม่อาจฟังได้ว่าเป็นราคาตลาดของของที่โจทก์ขายไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเลขที่ ต.4/1048/3/09080, 09081 และ 09082 ลงวันที่ 12 ธันวาคม2529 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 6/2531/1 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2530 และให้คืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกิน 122,015.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลตามแบบหนังสือแจ้งภาษีการค้าตามที่โจทก์ฟ้องชอบด้วยเหตุผลและข้อกฎหมายถูกต้องตามความเป็นจริงแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่าย ของที่โจทก์ขายคือตะกรัน ซึ่งมีสารแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์เจือปนอยู่ และของชนิดนี้ไม่เคยมีใครทำการซื้อขายกันมาก่อนคงมีแต่โจทก์เป็นผู้ขายรายเดียว ในการกำหนดราคาขายของดังกล่าวนั้น โจทก์มีนายยุทธ เอี่ยมสอาดกรรมการผู้จัดการของโจทก์มาเบิกความว่า ในการกำหนดราคาของที่ขายเป็นไปตามเงื่อนไขที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5ข้อที่จำเลยอ้างว่าราคาที่กำหนดตามเงื่อนไขในเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และผู้ซื้อเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนางสาวศรีนุช หวังซื่อกุล ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรทั่วราชอาณาจักรและเป็นผู้ตรวจสอบภาษีการค้าของโจทก์ที่พิพาทกันว่าบริษัทผู้ซื้อสินค้าจากบริษัทโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ดังนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์กำหนดราคาตามสัญญาซื้อขายต่ำตามที่อ้างข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ จึงนำเหตุนี้มาเป็นข้อพิจารณาว่าราคาที่โจทก์ขายนั้น ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ไม่ได้และของที่โจทก์ขายนั้นไม่มีการซื้อขายกันมาก่อนทั้งไม่มีผู้ขายรายอื่นได้ทำการขายของตามที่โจทก์ขาย กรณีจึงไม่มีราคาของที่มีการขายจริงที่จำเลยจะนำมาพิจารณาเพื่อให้เห็นว่าราคาที่โจทก์ขายนั้นต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนที่จำเลยคิดคำนวณราคาของที่โจทก์ขายโดยยึดถือเอาราคาจากตารางราคาในหนังสือ เมตัลบุลเลทิน ข่าวเหล็กกล้าและโลหะของโลกอันเป็นราคาต่างประเทศที่ตลาดลอนดอนนั้น ก็ได้ความว่าราคาที่กำหนดในหนังสือดังกล่าวนั้นเป็นการคำนวณราคาปริมาณเนื้อแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์ ในเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันกับของที่โจทก์ขาย จำเลยจะใช้วิธีการคำนวณโดยหักค่ากรรมวิธีที่จะให้ได้เปอร์เซ็นต์ของแร่ดังกล่าวเท่ากันและหักค่าขนส่งค่าประกันภัย แล้วมาคิดเทียบเคียงกับของที่โจทก์ส่งไปขายนั้นกรรมวิธีในการผลิตที่จะเปลี่ยนสภาพเปอร์เซ็นต์ของเนื้อแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์ให้ได้เปอร์เซ็นต์ตามที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของจำเลยว่าสามารถทำได้ในประเทศไทยในขณะที่เกิดกรณีพิพาทจึงไม่อาจจะทราบได้เลยว่า ค่ากรรมวิธีในการผลิตดังกล่าวนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่าใด การที่จำเลยนำเอาค่ากรรมวิธีในการผลิตมาหาราคาเทียบเคียงกับของที่โจทก์ส่งออกจึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานของจำเลยกำหนดขึ้นมาเอง โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏให้เห็นว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจะมีความรู้ความสามารถหรือเข้าใจกรรมวิธีในการผลิตว่าจะต้องมีวิธีการที่ซับซ้อนเพียงใดต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องใช้เทคนิคสูงเพียงใดแล้วเจ้าพนักงานของจำเลยจะรู้ได้อย่างไรว่า ค่ากรรมวิธีในการผลิตนั้นจะเป็นเท่าใด อันจะทำให้สามารถหาราคาที่เทียบเคียงกันได้ ทั้งราคาที่จะนำมาคำนวณเทียบเคียงตามหนังสือดังกล่าวก็มิใช่ราคาในประเทศไทยที่โจทก์ส่งของออกแต่เป็นราคาที่กำหนดซื้อขายกันในตลาดโลกที่ตลาดลอนดอนประเทศอังกฤษ หลักเกณฑ์ที่จำเลยนำมาเพื่อหาราคาตลาดของของที่โจทก์ขายไปจึงนำมาใช้กับกรณีของโจทก์ไม่ได้ เพราะมิใช่ราคาของชนิดเดียวกัน ณ ที่ส่งของออก ในเมื่อข้อที่นำมาอ้างให้เห็นว่า ราคาที่โจทก์ขายต่ำกว่าราคาตลาด ข้อนี้ของจำเลยรับฟังไม่ได้ จึงไม่มีกรณีที่ทำให้เห็นว่าราคาที่โจทก์ตกลงซื้อขายไปนั้นมิใช่ราคาตลาด และในการที่โจทก์ขายของชนิดนี้โดยการส่งไปขายนอกราชอาณาจักร ปรากฏตามใบขนสินค้าขาออกราคาของที่โจทก์กำหนดเพื่อเสียภาษีการค้าตามเอกสารหมาย ล.1ประมาณ 754 ฉบับ นั้น เจ้าพนักงานผู้ตรวจปล่อยสินค้าก็ไม่ได้แจ้งว่าราคาว่าต่ำไปแต่ประการใด ทั้งในการกำหนดราคาขายของโจทก์เพื่อเปรียบเทียบกับราคาของที่กรมทรัพยากรธรณีประกาศสำหรับเสียค่าภาคหลวง ราคาที่โจทก์ขายก็สูงกว่าราคาตลาดตามประกาศของทรัพยากรธรณีตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.39 หลายเท่าเชื่อได้ว่าราคาที่โจทก์ขายนั้นเป็นราคาในท้องตลาด มิใช่ราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรส่วนราคาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดขึ้นนั้นไม่อาจฟังได้ว่าเป็นราคาตลาดของของที่โจทก์ขายไป การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาราคาที่ตนกำหนดขึ้นมาประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการประเมินที่มิชอบ กรณีจึงต้องเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินมิชอบแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะนำภาษีที่โจทก์เสียเกินไว้ในเดือนกันยายน 2524 จำนวน122,015.22 บาท มาหักได้ จำเลยต้องคืนเงินภาษีส่วนนี้ให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเลขที่ ต.4/1048/3/09080, 09081 และ 09082 ลงวันที่12 ธันวาคม 2529 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 6/2531/1 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2530 และให้จำเลยคืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินจำนวน 122,015.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ