คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการในขณะที่จำเลยที่ 1 จะรับเงินจากโจทก์สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อดังกล่าว จึงมิใช่เป็นเพียงคำเสนอที่จะก่อให้เกิดสัญญาเมื่อมีคำสนอง เพราะขณะมีการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้รับเข้าผูกพันตนทำสัญญาค้ำประกันเสร็จไปในวันเดียวกัน สัญญาค้ำประกันจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นมารดาของร้อยตรี ท.เพื่อขอรับเงินบำนาญพิเศษจากโจทก์ซึ่งความจริงมิได้เป็นมารดาอาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ได้จ่ายเงินบำนาญพิเศษให้จำเลยที่ 1 โดยมีการทำสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์นั้น ถือว่าเป็นการชดใช้เงินคืนตามสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชดใช้เงินคืนจึงมีอายุความ10 ปีเช่นกัน การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1ผู้ขอรับเงินบำนาญพิเศษเป็นมารดาของร้อยตรี ท. นั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด ความเข้าใจผิดดังกล่าวมิใช่เป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเพราะจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารฝ่ายธุรการและกำลังพล เป็นตำแหน่งที่ต้องกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 1ยื่นแบบคำขอรับเงินบำนาญพิเศษ และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญของร้อยตรีทองสูนย์ จำปาอ่อน ผู้ตาย ซึ่งได้ถึงแก่กรรมในระหว่างปฏิบัติราชการตามคำสั่งของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นมารดาของผู้ตาย ซึ่งความจริงนางลุน จำปาอ่อน ผู้เป็นมารดาที่แท้จริงถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์หลงเชื่อคำอ้างดังกล่าวจึงอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2521 ถึงวันที่ 31สิงหาคม 2522 เป็นเงิน 104,577.49 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไป โดยให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการหากปรากฏภายหลังว่ามีทายาทอื่นขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิคืนให้แก่ทางราชการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชดใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือตาย หรือหลบหนี จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้แทนจนครบภายใน 30 วันนับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของผู้ตาย จึงระงับการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2526 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 104,577.49 บาท คืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2528 โดยยอมรับว่าตนไม่ใช่มารดาของผู้ตาย แต่ไม่สามารถคืนเงินที่รับไปได้เนื่องจากมีฐานะยากจน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 104,577.49 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ผู้ตายเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนายไสย์ จำปาอ่อน มิใช่บุตรของนางลุน จำปาอ่อน จำเลยที่ 1ไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้พันโทสุเทพ บุญประชุม เพื่อทำเรื่องเสนอขอเบิกเงิน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาว่า จำเลยที่ 1 เป็นทายาทของผู้ตายสัญญาค้ำประกันจึงเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะผู้เสียหายคือ กระทรวงการคลัง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 104,577.49 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 2มกราคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ชำระแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ไม่ใช่มารดาของผู้ตาย แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ ในขณะที่จำเลยที่ 1 จะรับเงินจากโจทก์สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อดังกล่าว มิใช่เป็นเพียงคำเสนอที่จะก่อให้เกิดสัญญาเมื่อมีคำสนอง เพราะขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญานั้น จำเลยที่ 2 ได้เข้าผูกพันตนทำสัญญาค้ำประกันเสร็จไปในวันเดียวกัน สัญญาค้ำประกันจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว
ข้อต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า คดีขาดอายุความหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 มีอายุความ1 ปี เมื่อจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน โจทก์ไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ภายใน1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าในเบื้องต้นการที่จำเลยที่ 1อ้างว่าเป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์เพื่อขอรับเงินบำนาญพิเศษจากโจทก์ ความจริงมิได้เป็นมารดา อาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่การที่โจทก์ได้จ่ายเงินบำนาญพิเศษให้จำเลยที่ 1 โดยมีการทำสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 1 ยอมจะชดใช้เงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิหรือส่วนที่ได้รับเกินสิทธิคืนให้แก่ทางราชการเป็นการจะชดใช้เงินคืนตามสัญญา และโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าใด จึงถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชดใช้เงินคืน จึงมีอายุความ10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ข้อต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 สำคัญผิดโดยเชื่อว่าจำเลยที่ 1เป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์ เห็นว่า เป็นความเข้าใจของจำเลยที่ 2เอง แล้วไปทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ แต่ไม่สามารถชดใช้เงินคืนได้ จำเลยที่ 2 จะชดใช้แทนจนครบถ้วน ในการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 เข้าใจถูกต้องทุกประการที่จะยอมรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1เป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 2 มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกันไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเพราะจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารฝ่ายธุรการและกำลังพล เป็นตำแหน่งที่ต้องกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น ข้อนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share