คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431-3433/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยโดยนำสัญญาเช่าอาคารและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่ามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน มีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญา ให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทได้ทันที ต่อมาโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงโอนสิทธิการเช่ามาเป็นของจำเลย ดังนี้ เมื่อโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงคิดราคาค่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทซึ่ง
เป็นทรัพย์สินที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินนั้นในเวลาโอนสิทธิการเช่า จึงขัดกับข้อความดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองและเป็นโมฆะตามวรรคสามการโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทมาเป็นของจำเลยตำเป็นโมฆะและเป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมยกเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆะกรรมขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

สำนวนแรกนางสุฟ้าเป็นโจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้เงินจำเลยโดยเอาหนังสือสัญญาเช่าอาคารกับคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารที่โจทก์ลงชื่อไว้ให้จำเลยไว้เป็นประกัน ถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยนำหนังสือสัญญาเช่าและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าไปทำาการโอนสิทธิการเช่าเป็นของจำเลยได้ โจทก์ชำระหนี้จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยกลับกรอกข้อความลงในคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าแล้วโอนเป็นของจำเลย จึงขอให้จำเลยคืนหนังสือสัญญาเช่าอาคาร คำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคาร และเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าอาคาร นางยิ้นจำเลยให้การว่า โจทก์ชำระดอกเบี้ยให้เพียง ๕๐๐ บาท เท่านั้น โจทก์ยอมโอนสิทธิการเช่าเพื่อชำระหนี้แก่จำเลย
สำนวนที่สองนางยิ้มเป็นโจทก์ฟ้องว่าโจทก์รับโอนสิทธิการเช่ามาจากจำเลย จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่พิพาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย นางสุฟ้าจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิโอนการเช่า
สำนวนที่สามนางยิ้มเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปแล้วยังไม่ชำระ จึงขอให้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย นางสุฟ้าจำเลยให้การชำระแล้ว
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาโดยเรียกนางสุฟ้าว่าโจทก์ นางยิ้นว่า จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากอาคารพิพาท ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย และให้โจทก์ชำระเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
นางสุฟ้าอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าอาคาร ยกฟ้องโจทก์สำนวนที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เชื่อว่าโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืนเงินจำเลยไว้ ๓ ฉบับ ตามสัญญากู้แต่ละฉบับโจทก์ได้นำสัญญาเช่าอาคารศาสนสมบัติ และคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวมอบให้จำเลยยึดไว้เป็นประกัน และมีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทได้ทันที และตามคำเบิกความของนายประพจน์ว่า เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ เวลา ๙ นาฬิกา จำเลยฝ่ายเดียวนำหลักฐานการกู้เงิน หนังสือทวงถามหนี้ คำร้องขอโอนสิทธิการเช่าที่โจทก์ลงชื่อไว้สัญญาเช่าอาคารพิพาท มาบอกว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ ขอให้จัดการโอนอาคารพิพาทให้จำเลยเป็นผู้เช่า พยานได้จัดการโอนให้จำเลยในวันนั้น รุ่งขึ้นโจทก์มาต่อว่าโอนสิทธิการเช่าทำไมไม่บอกให้โจทก์รู้บ้าง เชื่อว่าโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงคิดราคาค่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินนั้นในเวลาโอนสิทธิการเช่า จึงขัดกับข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕๖ วรรคสอง และเป็นโมฆะตามวรรคสามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทมาเป็นของจำเลยจึงตกเป็น โมฆะและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมยกเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆะกรรมขั้นวินิจฉัยได้
พิพากษายืน

Share