คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7969/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บค่าบำรุงสมาชิกและค่าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำพร้อมทั้งนำเงินดังกล่าวมาฝากธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมในแต่ละวันดังนั้นในแต่ละวันแม้จำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกไม่ตรงกับจำนวนเงินที่รับจากสมาชิกกี่ฉบับก็ตามแต่การจะตรวจสอบรู้ว่าจำเลยยักยอกเงินไปจำนวนเท่าใดก็ต้องดูจากยอดเงินที่จำเลยนำฝากธนาคารในแต่ละวันว่าขาดหายไปเท่าใดดังนั้นจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานยักยอกในแต่ละวันเพียงกรรมเดียวเท่านั้นเมื่อจำเลยกระทำผิดฐานยักยอก68วันจำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก68กรรมหรือกระทง การปลอมเอกสารสิทธิจำเลยกระทำไปเพื่อปกปิดการกระทำผิดของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับการที่จำเลยยักยอกเงินดังกล่าวโดยมีเจตนาจะใช้เอกสารสิทธิปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั่นเองความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิกับความผิดฐานยักยอกจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ คู่ความรายเดียวกัน ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องมีใจความเช่นเดียวกันว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2525 เวลากลางวันถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2528 เวลากลางวันติดต่อกันตลอดมา จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้เสียหายได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายได้รับเงินค่าบำรุงจากสมาชิกของผู้เสียหายและค่าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไว้ในความครอบครองของจำเลยแทนผู้เสียหายได้เบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินรวม 101 ครั้ง เป็นเงิน 179,802 บาท และจำเลยยังได้ปลอมใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายโดยนำสำเนาใบเสร็จรับเงินที่ผู้เสียหายออกให้แก่สมาชิกของผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าสมาชิกของผู้เสียหายได้จ่ายเงินให้ผู้เสียหาย หรือที่ผู้เสียหายได้จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหายมาแก้ไขจำนวนเงินให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง จำเลยทำการปลอมเอกสารดังกล่าวข้างต้นรวม 33 ครั้ง เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 352, 353, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม 179,802 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 รวม 101 กระทง และมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 อีก 33 กระทงให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกฐานยักยอกกระทงละ 1 ปี และจำคุกฐานปลอมเอกสารกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 200 ปี แต่ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ซึ่งเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้ลงโทษจำเลยรวมทั้งสิ้น 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 179,802 บาท แก่โจทก์ร่วมผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2525 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2528 รายรับของโจทก์ร่วมตามใบเสร็จรับเงินไม่มีการนำลงบัญชี และแม้นำลงบัญชี แต่ไม่เต็มตามจำนวนในใบเสร็จ โดยเงินนี้ไม่ได้นำลงบัญชีทุกยอดไป ซึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1, จ.6, จ.7, จ.8 จ.9 และจ.10 รวม 68 วัน เป็นจำนวน 101 ครั้ง คิดเป็นเงินค่าเสียหาย179,802 บาท นอกจากนี้มีการปลอมเอกสารโดยการแก้ไขหรือทำขึ้นใหม่ซึ่งใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมจำนวน 33 ครั้ง
มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเป็นเงิน179,802 บาท และฐานปลอมใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิของโจทก์ร่วม แต่เห็นว่าความผิดฐานยักยอกนั้น จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บค่าบำรุงสมาชิกและค่าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พร้อมทั้งนำเงินดังกล่าวฝากธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมในแต่ละวัน ดังนั้นในแต่ละวันแม้จำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกไม่ตรงกับจำนวนเงินที่รับจากสมาชิกกี่ฉบับก็ตาม แต่การจะตรวจสอบรู้ว่าจำเลยยักยอกเงินไปจำนวนเท่าใด ก็ต้องดูจากยอดเงินที่จำเลยนำฝากธนาคารในแต่ละวันว่าขาดหายไปเท่าใด ดังนั้นจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานยักยอกในแต่ละวันเพียงกรรมเดียวเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำผิดฐานยักยอก 68 วัน จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก 68 กรรมหรือกระทงส่วนความผิดฐานปลอมใบเสร็จรับเงิน โจทก์นำสืบได้แต่เพียงว่า พบใบเสร็จรับเงินปลอม 33 ฉบับ ซึ่งลงวันที่ต่างกันไม่มีพยานโจทก์ที่พบเห็นว่าจำเลยกระทำปลอมเอกสารดังกล่าวเป็น33 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ แม้วันที่ซึ่งลงในใบเสร็จรับเงินจะแตกต่างกัน แต่ก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะทำปลอมใบเสร็จในวันที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงิน จำเลยอาจทำการในวันเดียวกันก็ได้และไม่ตรงตามวันที่ระบุในใบเสร็จรับเงินเหล่านั้น จึงฟังได้เพียงว่าจำเลยกระทำผิดฐานปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิเพียงกรรมเดียว และการปลอมเอกสารสิทธิจำเลยกระทำไปเพื่อปกปิดการกระทำผิดของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยยักยอกเงินดังกล่าว โดยมีเจตนาจะใช้เอกสารสิทธิปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั้นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิกับความผิดฐานยักยอกจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทเสียหนึ่งกรรมหนึ่งกระทงส่วนความผิดฐานยักยอกที่มิได้เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมเอกสารคงเหลือเพียง 67 กรรม หรือกระทง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353, 265 ความผิดฐานยักยอกกับปลอมเอกสารสิทธิเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทเสียหนึ่งกระทง ให้ลงโทษตามมาตรา 265ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 1 ปี ส่วนความผิดฐานยักยอกอีก 67 กระทง ซึ่งไม่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำคุกกระทงละ 1 เดือน เป็นจำคุก 5 ปี 7 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share