แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า “ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือบทกฎหมายอื่น” ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าสิทธิของผู้ทรงบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อนจะต้องอยู่ในกรอบแห่งบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ดังนี้ เมื่อบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ทั้งสามแปลงตามคำร้องของผู้ร้องมีบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา 288 ว่า “บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นหากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป” บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จึงชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้ความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องในกรณีนี้จะพึงใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้นั้น ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ ผู้ร้องจะต้องลงทะเบียนในขณะจดทะเบียนสัญญาซื้อขายด้วยว่า ราคาหรือดอกเบี้ยในราคาที่ยังมิได้ชำระมีเพียงใดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิยกความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอันพึงจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่ตนจากที่ดินทั้งสามแปลงก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย และได้ใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 278 บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 56597, 68579 และ 81546 ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็น “คำร้องขอ” และถือเป็น “คำฟ้อง” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อเรียกราคาที่ยังมิได้รับชำระพร้อมดอกเบี้ย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องชนะคดีได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ เมื่อ “คำร้องขอ” ของผู้ร้องเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ชอบแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า โจทก์คดีนี้ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยแปลงที่ผู้ร้องขายให้จำเลยและจำเลยยังคงค้างชำระค่าที่ดิน จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ ผู้ร้องเป็นผู้มีบุริมสิทธิพิเศษเหนืออสังหาริมทรัพย์ต่อจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินในมูลหนี้ค่าที่ดินที่จำเลยค้างชำระ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องก่อนเอาที่ดินออกขายทอดตลาด จึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่ยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของที่ดินเดิมที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้ ไม่มีมูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนบอกราคาที่ค้างชำระและดอกเบี้ยไว้จึงไม่เป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิ ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เอาจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในคดีนี้ก่อนโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของผู้ร้องว่า สิทธิของผู้ร้องสำหรับเรียกเอาราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 56597, 68579 และ 81546 ซึ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 14934 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจำเลยซื้อไปจากโจทก์และยังค้างชำระราคา เป็นบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้โดยไม่จำต้องจดทะเบียน ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาราคาที่ดินทั้งสามแปลงที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 251 บัญญัติว่า “ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือบทกฎหมายอื่น” ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าสิทธิของผู้ทรงบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อนจะต้องอยู่ในกรอบแห่งบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ดังนี้ เมื่อบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ทั้งสามแปลงตามคำร้องของผู้ร้องมีบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา 288 ว่า “บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นหากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป” บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จึงชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้ความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องในกรณีนี้จะพึงใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้นั้น ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย นั่นคือ ผู้ร้องจะต้องลงทะเบียนในขณะจดทะเบียนสัญญาซื้อขายด้วยว่า ราคาหรือดอกเบี้ยในราคาที่ยังมิได้ชำระมีเพียงใด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทนี้ ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิยกความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอันพึงจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่ตนจากที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย และได้ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบมาตรา 278 บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของผู้ร้องข้อสุดท้ายมีว่า คำร้องของผู้ร้องมิใช่คำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 2 เท่านั้น หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 56597, 68579 และ 81546 ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็น “คำร้องขอ” และถือเป็น “คำฟ้อง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อเรียกราคาที่ยังมิได้รับชำระพร้อมดอกเบี้ยก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องชนะคดีได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ เมื่อ “คำร้องขอ” ของผู้ร้องเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2534 ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ นายธงชาติ สุขะโนทัย จำเลย บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ลีละศิธร จำกัด ผู้ร้อง ที่ผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน