คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับที่ดินมาจากการแบ่งปันทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดิน แต่เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทฯ โจทก์จึงให้นาย ข. ลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน และโจทก์ให้นาย ข. จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคาร การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับนาย ข. และผู้อื่นกระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของ ป.พ.พ. มาตรา 80 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ มาตรา 74) เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อต่อมาจำเลยที่ 2 ยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างของนาย ข. การที่โจทก์ฟ้องเพื่อขอคืนที่ดินทั้งแปดแปลง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากร ที่ สภ.2/92/2541 ที่สั่งยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 130257 ถึง 130264 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และคืนทรัพย์ที่ยึดแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจรงิรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายขนบธรรม ทองนิ่ม มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 130257 ถึง 130264 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 ต่อมาที่ดินทั้งแปดแปลงดังกล่าวถูกสรรพากรภาค 2 ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยึดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่นายขนบธรรมกับพวกค้างชำระ จำนวน 21,569,957 บาท ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรในเอกสารหมาย จ.13 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มิได้กระทำการใดที่เป็นการไม่สุจริต เพียงแต่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 130257 ถึง 130264 ดังกล่าวจากบริษัท ส.ไชยกมลพัฒนาการ จำกัด ซึ่งจัดสรรขายในโครงการศูนย์การค้าไดร์อิน โดยได้รับอนุญาตให้จัดสรรขายแล้ว ต่อมาเมื่อ บริษัท ส.ไชยกมลพัฒนาการ จำกัด ปิดโครงการ โจทก์ได้รับที่ดินมาจากการแบ่งคืนุทนและมอบให้นายขนบธรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างของนายขนบธรรมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพื่อเรียกทรัพย์สินของโจทก์คืนนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ว่า เดิมที่ดินทั้งแปดแปลงเป็นของบริษัท ส.ไชยกมลพัฒนาการ จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทฯ โดยบริษัทฯดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดินชื่อโครงการไดร์อิน ต่อมาปี 2528 บริษัทฯ ปิดโครงการดังกล่าวโดยที่ยังขายที่ดินไม่หมด ผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ จึงตกลงแบ่งปันทรัพย์สินของบริษัทฯในส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ได้รับแบ่งปันที่ดินประมาณ 20 แปลง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทฯ จะใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะเป็นปรปักษ์แก่กันตามหนังสือของกรมที่ดิน เอกสารหมาย จ.4 และเวลาขายต่อจะต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงได้กระจายใส่ชื่อบุคคล ซึ่งโจทก์ไว้วางใจให้ถือแทนหลายราย นายขนบธรรมเป็นลูกจ้างโจทก์คนหนึ่ง จึงให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงแทนโจทก์ และโจทก์นำไปจำนองค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเทเวศร์ และโจทก์นำสืบว่านอกจากที่ดินทั้งแปดแปลงแล้ว โจทก์ยังดำเนินการให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนอีกหลายแปลง เช่นนางสาววรมิตา เยาวราช ที่จังหวัดระยอง นายนิพนธ์ แจ่มใส ที่จังหวัดชลบุรี นางสาววิมล เสวานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา และนางสาวอังคณา สุคนพาทิพย์ ที่จังหวัดระยอง โดยโจทก์จะให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทุกคนทำหนังสือสำคัญการถือกรรมสิทธิ์แทน พร้อมทั้งยึดถือโฉนดที่ดินใบมอบอำนาจลงลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องไว้ เนื่องจากโจทก์ทราบข่าวว่าทางราชการจะออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินจำกัดการถือครองที่ดินและโจทก์มีที่ดินในครอบครองหลายร้อยแปลงจำนวนหลายพันไร่ แต่เฉพาะที่ดิน 8 แปลง ที่ให้นายขนบธรรมถือกรรมสิทธิ์แทนนั้น โจทก์ให้นายขนบธรรมจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเทเวศร์ เห็นว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับนายขนบธรรมและผู้อื่นกระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การที่โจทก์ฟ้องเพื่อขอคืนที่ดินทั้งแปดแปลงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share