แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยผู้เสียหายยินยอม ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก แต่ในวรรคท้ายบัญญัติว่า ความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ มีความหมายว่าในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ยังไม่อาจที่จะสมรสกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 หากจะสมรสกันอันจะทำให้ชายไม่ต้องรับโทษ ต้องมีคำสั่งของศาลอนุญาตให้ทำการสมรส เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรสแล้ว ทำให้ชายผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ขณะที่จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกัน ทั้งจำเลยและผู้เสียหายมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยและผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อจำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสสามแล้ว ถือว่าจำเลยและผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษอีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธมีดข่มขู่บังคับข่มขืนใจเด็กหญิงแตเร๊าะ หะยีดือราแม ผู้เสียหาย อายุ ๑๔ ปี ไม่ให้ ขัดขืน ทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ , ๓๐๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก จำคุก ๔ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๓ ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยผู้เสียหายยินยอม ต่อมาจำเลยและผู้เสียหายได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายอิสลามปรากฏตามทะเบียนสมรส สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีท้ายฎีกา
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องรับโทษหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี โดยผู้เสียหายยินยอมย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก แต่ในวรรคท้ายบัญญัติว่า ความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับหญิงอายุกว่า ๑๓ ปี แต่ยังไม่เกิน ๑๕ ปี โดยเด็กหญิงนั้น ยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ มีความหมายว่าในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ยังไม่อาจที่จะสมรสกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ หากจะสมรสกันอันจะทำให้ชายไม่ต้องรับโทษ ต้องมีคำสั่งของศาลอนุญาตให้ทำการสมรส เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรสแล้ว ทำให้ชายผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่คดีนี้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกันนั้นทั้งจำเลยและผู้เสียหายมีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยและผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและ ผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสลามแล้ว ถือว่าจำเลยและผู้เสียหายย่อมเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรกเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙