แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำแหวนลูกสูบเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยื่นคำร้องขอเทียบสินค้าของโจทก์กับอะไหล่ชนิดแท้ของรถยนต์อีซูซุ ผลการเปรียบเทียบปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เหมือนกับอะไหล่ชนิดแท้ทุกประการผิดกันเพียงหีบห่อภาชนะที่บรรจุ การที่จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ตามราคาอะไหล่ชนิดแท้ที่นำเข้าโดยลดให้ร้อยละห้าโดยถือตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 28/2527 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์จึงเป็นการชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อแหวนลูกสูบเครื่องยนต์ยี่ห้อเอ็น.พี.อาร์. จากโรงงานผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบรับรองเพื่อชำระค่าภาษีอากรพนักงานศุลกากรได้ตีราคาสินค้าโจทก์เพิ่มจากราคาที่โจทก์ซื้อมาจริง และประเมินเรียกเก็บค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้น โจทก์จำต้องยอมชำระเงินเพิ่มรวมไปกับค่าภาษีอากรที่โจทก์พึงชำระตามราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อเข้ามา ในวันเดียวกันพนักงานศุลกากรแจ้งว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ เป็นเหตุให้อากรขาดเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๒๗ โจทก์จะต้องชำระค่าภาษีอากรที่ยังขาดอยู่อีกพร้อมค่าปรับ๒ เท่าของค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะตรวจปล่อยของจากกรมศุลกากรได้ โจทก์จำเป็นต้องนำสินค้าออกจึงยอมวางประกันไว้การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาและสำแดงไว้ในใบขนสินค้านั้นเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาด สำหรับราคาสินค้าชนิดปริมาณและคุณภาพเฉพาะสำหรับสินค้าที่โจทก์ซื้อเข้ามา ที่พนักงานจำเลยตีราคาสินค้าโจทก์เพิ่มขึ้นโดยใช้สินค้าต่างยี่ห้อและเครื่องหมายการค้ามาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาตามวิธีการที่จำเลยวางไว้นั้น เป็นการไม่ถูกต้องเพราะราคาสินค้าที่พนักงานจำเลยตีเพิ่มแก่สินค้าโจทก์นั้นไม่ใช่ราคาสินค้าที่ซื้อขายโดยแท้จริง ตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร ขอให้พิพากษาให้จำเลยคืนเงินและหลักประกันแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาที่โจทก์และผู้ขายสินค้าได้ตกลงกำหนดขึ้นมาเองให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดจึงเป็นการสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๒๗ เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าให้ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การชำระภาษีอากรที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วรวมทั้งค่าปรับที่วางประกันไว้จึงเป็นการชำระตามกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องคืนเงินค่าภาษีอากรรวมทั้งหลักประกันค่าปรับที่วางประกันไว้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง สำหรับจำนวนเงินภาษีที่จำเลยคิดเพิ่มอีก ๔๒๗,๕๐๐ บาทนั้น โจทก์เพียงให้ธนาคารค้ำประกันไว้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในส่วนนี้ พิพากษาให้จำเลยคืนหลักประกันและเงินจำนวน ๒๗๖,๒๙๒.๐๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่นั้นปรากฏว่าเมื่อโจทก์นำสินค้ารายนี้เข้ามาในราชอาณาจักรโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเทียบสินค้าของโจทก์กับอะไหล่ชนิดแท้ที่ใช้กับรถยนต์อีซูซุ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ ๑๓/๒๕๒๘ เรื่อง ให้ผู้นำของเข้าต้องสำแดงหมายเลขอะไหล่แท้ของยานยนต์กำกับหมายเลขอะไหล่ที่นำเข้าทดแทนอะไหล่แท้โดยโจทก์อ้างว่าสินค้าของโจทก์ใช้กับรถยนต์อีซูซุเมื่อฝ่ายจำเลยมีหนังสือสอบถามบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ก็ได้รับคำตอบว่าบริษัทนิปปิน พิสตัน ริง จำกัด ซึ่งขายสินค้ารายนี้ให้โจทก์เป็นผู้ผลิตแหวนลูกสูบสำหรับอะไหล่แท้ของรถยนต์อีซูซุเช่นเดียวกัน ตามคำเบิกความของนายกรกช เกียรติการุณ พยานจำเลย ซึ่งเป็นสารวัตรศุลกากร ผู้ตรวจสินค้ารายนี้ก็ปรากฏว่าพยานได้ให้เจ้าหน้าที่ไปซื้อแหวนลูกสูบชนิดเดียวกับที่โจทก์นำเข้าจากบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เพื่อเทียบเคียงกับสินค้าของโจทก์ ก็ปรากฏว่าเนื้อโลหะ ขนาดน้ำหนัก จำนวนแหวนและเส้นผ่าศูนย์กลางก็เท่ากัน นอกจากนั้นยังตีตรา เอ็น.พี.อาร์.อยู่ในเนื้อโลหะของแหวนด้วย จะผิดกันก็แต่เฉพาะภาชนะที่บรรจุเท่านั้น ซึ่งกล่องกระดาษที่บรรจุแหวนลูกสูบของบริษัทดังกล่าวตีตราอีซูซุ ส่วนกล่องกระดาษที่บรรจุสินค้าที่โจทก์นำเข้าตีตรา เอ็น.พี.อาร์. โจทก์มิได้นำสืบถึงข้อแตกต่างระหว่างสินค้าที่โจทก์นำเข้ากับอะไหล่แท้ของรถยนต์อีซูซุแต่ประการใด จึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้านั้นเหมือนกับอะไหล่แท้ที่ใช้กับรถยนต์อีซูซุทุกประการ สำหรับคำสั่งทั่วไป กรมศุลกากรที่ ๒๘/๒๕๒๗ เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์ นั้น ได้ระบุไว้ว่าอะไหล่ที่มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายใดๆ ที่ตัวสินค้า ซึ่งถือว่าเหมือนกับอะไหล่แท้ทุกประการจะผิดกันเพียงหีบห่อภาชนะที่บรรจุนั้น ให้ประเมินราคาโดยเปรียบเทียบกับอะไหล่แท้โดยถือเกณฑ์ให้ห่างกันได้ไม่เกินร้อยละห้า ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยเหตุผลในการใช้เปรียบเทียบสินค้าเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒ แล้ว เมื่อโจทก์ขอให้เทียบสินค้าของโจทก์กับอะไหล่ชนิดแท้ที่ใช้กับรถยนต์อีซูซุ และผลของการเปรียบเทียบปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เหมือนกับอะไหล่ชนิดแท้ทุกประการเช่นนี้ การที่ฝ่ายจำเลยเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ตามราคาอะไหล่ชนิดแท้ที่นำเข้าโดยลดให้ร้อยละห้าตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยวางไว้จึงเป็นการชอบแล้วแม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ชำระราคาให้ผู้ขายตามราคาที่โจทก์สำแดงไว้ก็หามีน้ำหนักเท่าพยานจำเลยไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้นั้นไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่ราคาที่ฝ่ายจำเลยประเมินจึงถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.