คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของผู้ร้องซึ่งกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงมีอำนาจอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกันกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
สัญญาให้บริการโทรศัพท์พกพา (สัญญา TPS) ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านกำหนดสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านเกี่ยวกับที่มาและเงื่อนไขการคืนทรัพย์สินในกรณีผู้คัดค้านผิดสัญญาแล้ว ผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือเงินคืนจากผู้ร้องและต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกว่ากรณีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเงินจากธนาคาร ผู้ออกหนังสือค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควรเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้คัดค้านยังมีหนี้ค้างชำระแก่ผู้ร้องอยู่ ย่อมถือว่าผู้ร้องได้รับความเสียหาย ภายหลังจากผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแล้วสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องรับมอบทรัพย์สินจากผู้คัดค้านและให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้าน โดยไม่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ รวมทั้งไม่กำหนดว่าหากผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแทนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน และการชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องนำไปหักจากหนี้ที่ผู้คัดค้านยังค้างชำระแก่ผู้ร้องตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เป็นตามสัญญา การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
(1) ปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดที่วินิจฉัยให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สิน 95,712,417.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คำนวณจากราคาทรัพย์สินที่มีการส่งมอบแต่ละรายการนับแต่วันที่ส่งมอบจนกว่าจะชำระเสร็จ เพราะคำชี้ขาดส่วนนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 24
(2) ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนอื่นนอกเหนือจากใน (1) และขอให้บังคับผู้คัดค้านยินยอมให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้เงินค้ำประกัน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเสนอข้อพิพาท (วันที่ 1 มิถุนายน 2541) จนถึงวันแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านได้รับชำระคืน (วันที่ 22 มิถุนายน 2543) รวมเป็นเงิน 23,092,566.80 บาท กับเงินที่ผู้คัดค้านจะต้องชดใช้แก่ผู้ร้อง 85,455,059.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 75,284,615.17 บาท นับแต่วันบอกเลิกสัญญา (วันที่ 7 พฤษภาคม 2541) จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ไปยังผู้คัดค้าน รวมเป็นเงิน 97,482,931.02 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้วให้ผู้คัดค้านชำระเงินคงเหลือจากการหักกลบลบหนี้แล้วแก่ผู้ร้อง
(3) ขอให้ผู้คัดค้านคืนทรัพย์สินแก่ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ และผู้คัดค้านไม่มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้มูลค่าทรัพย์สินที่คำนวณจากระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากผู้คัดค้านต้องส่งคืนทรัพย์สินก่อนอายุสัญญา โดยคิดราคาตามส่วนจากมูลค่าทรัพย์สินจำนวน 319,014,392.03 บาท ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงินจำนวน 95,712,417.20 บาท
(4) ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำชี้ขาดบกพร่องและไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยขอให้มีคำพิพากษาเพิ่มเติมว่า หากผู้คัดค้านไม่สามารถคืนทรัพย์สินทั้งหมดอันได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าเดิมจำนวน 319,014,392.03 บาท ที่จัดทำไว้สำหรับดำเนินการตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ ผู้คัดค้านต้องชดใช้มูลค่าของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดเป็นเงิน 319,014,392.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องเลิกสัญญาแก่ผู้คัดค้านจนกว่าผู้คัดค้านจะชำระให้แก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้พิพากษาตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยพิพากษาให้ผู้คัดค้านคืนเงินค้ำประกัน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เสนอข้อพิพาท (วันที่ 1 มิถุนายน 2541) จนถึงวันยื่นคำร้อง (วันที่ 10 กรกฎาคม 2543) เป็นดอกเบี้ย 3,166,337.29 บาท และขอให้ผู้คัดค้านรับมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์พกพาระบบ TPS ตามสภาพปัจจุบันจากสำนักงานวางทรัพย์กลาง ให้ชดใช้มูลค่าทรัพย์สินจำนวน 95,712,417.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ร้องนำทรัพย์ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง (วันที่ 26 มกราคม 2543) จนถึงวันยื่นคำร้องเป็นดอกเบี้ย 3,275,404.44 บาท รวมเป็นเงิน 98,987,821.64 บาท ในส่วนที่ผู้ร้องจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้าน 85,455,059.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,284,615.17 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ถึงวันวางทรัพย์ คิดเป็นดอกเบี้ย 9,744,649.21 บาท รวมเป็นเงิน 95,199,709.09 บาท ผู้ร้องขอหักกลบลบหนี้กัน คงเหลือเงินที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระแก่ผู้ร้อง 26,954,449.84 บาท จึงขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
ระหว่างพิจารณา บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 โดยให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้าน 26,954,449.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันยื่นคำร้อง (วันที่ 10 กรกฎาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ของผู้คัดค้านและคำร้องของผู้ร้องให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านจำนวน 95,712,417.20 บาท ซึ่งผู้คัดค้านมิได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านต้องส่งมอบคืนแก่ผู้ร้อง เป็นอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินการชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดเกินคำขอของคู่กรณีไม่ได้ ปรากฏว่าปัญหาข้อนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด แต่คณะอนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้แก่ผู้คัดค้าน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินจำนวน 95,712,417.20 บาท และคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ในรายละเอียดแห่งสัญญาในส่วนที่กล่าวถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และทรัพย์สินปรากฏว่า มีข้อตกลงให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ TPS ทั้งหมด (สัญญาข้อ 2) บรรดาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทันทีที่ติดตั้งเสร็จ โดยผู้ร้องยินยอมให้ผู้คัดค้านใช้ประโยชน์ตลอดอายุสัญญา และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ผู้คัดค้านต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนผู้ร้องในสภาพที่ใช้งานได้ดี (สัญญาข้อ 4) เมื่อสัญญาสิ้น สุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ผู้คัดค้านต้องส่งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ตามสัญญาทั้งหมดให้ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง ก่อนการส่งมอบหากเครื่องมือและอุปกรณ์ขัดข้องหรือชำรุดเสียหายอย่างใด ๆ ผู้คัดค้านต้องจัดหาอุปกรณ์อะไหล่เพื่อการตรวจซ่อมหรือสับเปลี่ยนต่อเครื่องมือและอุปกรณ์ให้อยู่ในลักษณะใช้งานได้ตามอายุการใช้งานที่ผ่านมาให้เป็นที่เรียบร้อย (สัญญาข้อ 20) กรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องคืนแต่อย่างใด (สัญญาข้อ 37) จะเห็นได้ว่า ข้อสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าวได้กำหนดถึงสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านเกี่ยวกับที่มาและเงื่อนไขการคืนเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และทรัพย์สินไว้ชัดเจนครอบคลุม ทั้งกรณีสัญญาสิ้นสุดโดยอายุของสัญญาตามสัญญาข้อ 4 และกรณีผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาแล้วผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 37 ในกรณีหลังนี้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินและเงินคืนจากผู้ร้องแต่อย่างใด และต้องส่งมอบคืนให้ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง ซึ่งปัญหานี้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้แล้วว่าเป็นเรื่องผู้คัดค้านผิดสัญญา ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแล้ว สิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นไปตามสัญญาข้อ 37 กล่าวคือ ผู้คัดค้านต้องส่งมอบทรัพย์สินในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลงคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ร้อง ดังนั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ร้องรับมอบทรัพย์สินจากผู้คัดค้านโดยไม่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ และชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินจำนวน 95,712,417.20 บาท แก่ผู้คัดค้านโดยอ้างถึงสัญญาข้อ 4 ซึ่งเป็นเรื่องสัญญาสิ้นสุดโดยอายุของสัญญาด้วยการตีความสัญญากลับว่า หากผู้คัดค้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามอายุสัญญาเพียงใด ผู้คัดค้านก็มีสิทธิได้รับชดใช้มูลค่าทรัพย์สินตามระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ มิใช่เป็นเรื่องผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาเช่นคดีนี้ รวมทั้งชี้ขาดให้ผู้คัดค้านส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้ร้องโดยไม่กำหนดเงื่อนไขว่าหากผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้แล้ว ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแทนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เป็นไปตามสัญญาและไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง
สำหรับรายละเอียดแห่งสัญญาในส่วนที่กล่าวถึงหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาปรากฏว่า ในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อผู้ร้อง จะเห็นได้ว่า กรณีที่ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาและผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามแต่จะเห็นสมควรเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อผู้คัดค้านยังมีหนี้ค้างชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรวมทั้งเงินค้างจ่ายอื่นๆ พร้อมดอกเบี้ยตามคำชี้ขาดจำนวน 85,455,059.88 บาท ย่อมถือว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายอยู่ การที่คณะอนุญาโตตุลาการอ้างสัญญาข้อ 34 เพื่อเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันการชำระหนี้ที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของผู้คัดค้านอันเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งนั้น เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 34 ที่กำหนดว่ากรณีที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งสัญญาอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิริบหลักประกันทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนตามที่ผู้ร้องเห็นสมควรเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย และผู้คัดค้านจะต้องนำหลักประกันมาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนตามสัญญาเสมอไปนั้น เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเงินประกันได้โดยไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ดังจะเห็นได้ในตอนท้ายของสัญญาข้อนี้ที่กำหนดให้ผู้คัดค้านจะต้องนำหลักประกันมาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนตามสัญญาเสมอไป ซึ่งต่างจากกรณีการเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 25 ข้อ 33 และข้อ 37 การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนเงินค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่เสนอข้อพิพาท โดยมิได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องนำไปหักจากหนี้ที่ผู้คัดค้านค้างชำระตามสัญญาก่อน จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เป็นไปตามสัญญา
ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า การบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้รวมทั้งการหักกลบลบหนี้แล้วให้ผู้ร้องชำระเงิน 26,954,449.84 บาท แก่ผู้คัดค้าน จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้ออื่นไม่ จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ร้องไม่ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 95,712,417.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน และในส่วนที่ให้ผู้ร้องคืนเงินค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 85,455,059.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 75,284,615.17 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และให้ผู้คัดค้านรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากรด้วย โดยให้ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท ไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ผู้คัดค้านต้องชำระก่อน หากมีเหลือจึงหักจากต้นเงินที่ผู้คัดค้านต้องชำระโดยผู้ร้องไม่ต้องชำระเงิน 26,954,449.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลชั้นต้นและชั้นนี้ให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share