แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการซื้อขายที่พิพาทกันซึ่งมีชื่อบ. เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองคงมีแต่โจทก์ต. บ. และป. เท่านั้นที่ได้เจรจาต่อรองกันไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้รู้เห็นยินยอมหรือร่วมเจรจาอยู่ด้วยแต่ต. กลับเป็นผู้รับรองต่อโจทก์ว่าบุตรทุกคนยินยอมให้ขายที่พิพาทได้และรับว่าหากโจทก์ต้องการใช้ประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อใดก็จะจัดการให้รื้อบ้านออกไปและก่อนซื้อโจทก์ได้ไปดูที่พิพาทและเห็นจำเลยปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่พิพาทในลักษณะมั่นคงถาวรอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ซักถามจำเลยหรือแม้แต่บ. และต.ให้ได้ความชัดเจนว่าจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่พิพาทได้ด้วยเหตุใดการที่โจทก์ซื้อที่พิพาทไว้ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าจำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยอันเป็นการใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทอยู่ถือไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยสุจริตเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยในพฤติการณ์เช่นนี้เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 11 หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม โดยโจทก์ซื้อมาจากนายบุญลือ อารีย์ เมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2534 จำเลยทั้งสามปลูกบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเมื่อปลายปี 2536 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามออกจากที่พิพาทแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ที่ดินทำประโยชน์ได้ ที่ดินดังกล่าวมีราคาประมาณ1,000,000 บาท โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากราคาที่ดินดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 11 เล่ม 1 หน้า 29 หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งน้อยอำเภอเมืองนครปฐม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ดังกล่าวเป็นของนายจรัส อารีย์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นบิดาของภรรยาจำเลยที่ 3ปัจจุบันนายจรัสได้เสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่นายจรัสยังมีชีวิตอยู่ได้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตรรวม 5 คน ครอบครองทำประโยชน์คือจำเลยที่ 1 ที่ 2 ภรรยาของจำเลยที่ 3 นายเรือง อารีย์และนายสำราญ อารีย์ จำเลยทั้งสามได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสาม นายเรือง และนายสำราญโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 11 เล่ม 1 หน้า 29 หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งน้อยอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในประเด็นนี้เห็นว่าตามคำพยานโจทก์และพยานจำเลยได้ความว่า ในการซื้อขายที่พิพาทกันคงมีแต่โจทก์ นางตา นายบุญลือและนายปรีชาเท่านั้นที่ได้เจรจาต่อรองกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้รู้เห็นยินยอมหรือร่วมเจรจาอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความด้วยว่า น.ส.3 ที่พิพาทมีชื่อนายบุญลือเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง แต่นางตากลับเป็นผู้รับรองต่อโจทก์ว่าบุตรทุกคนยินยอมให้ขายที่พิพาทได้ และนางตารับว่าหากโจทก์ต้องการใช้ประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อใดก็จะจัดการให้รื้อถอนออกไป โจทก์เองก็เบิกความรับว่ารู้สึกแปลกใจที่มีการโอนที่พิพาทกลับไปกลับมาแล้วจึงมาโอนขายให้โจทก์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว โจทก์ก็น่าจะต้องสอบถามความเป็นมาของที่พิพาทของจำเลยให้ได้ความแน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นของใครกันแน่ ทั้งโจทก์ก็มิได้นำนางตาและนายบุญลือซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่พิพาทมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ด้วย การที่โจทก์ซื้อที่พิพาทจากนายบุญลือโดยก่อนซื้อโจทก์ได้ไปดูที่พิพาทและเห็นจำเลยทั้งสามปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่พิพาทในลักษณะมั่นคงถาวรอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ซักถามจำเลยทั้งสาม หรือแม้แต่นายบุญลือและนางตาให้ได้ความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่พิพาทได้ด้วยเหตุใดซึ่งหากโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยสุจริตแล้วก็น่าจะต้องสอบถามให้ได้ความโดยถ่องแท้เสียก่อน การที่โจทก์ซื้อที่พิพาทไว้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า จำเลยทั้งสามปลูกบ้านอยู่อาศัยอันเป็นการใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทอยู่เช่นนี้ กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่พิพาทโดยสุจริต การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามในพฤติการณ์เช่นนี้เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจและเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์