คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7039/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย โดยอ้างว่านิติกรรมซื้อที่ดินและเรือนพิพาทเป็นโมฆียะกรรมต้องบอกล้างภายใน 10 ปีเท่านั้น ศาลฎีกาจึงนำบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องโมฆียะกรรมเท่านั้นมาปรับแก่คดีจะนำอายุความคดีฟ้องเรียกมรดกมาปรับไม่ได้ ส่วนอายุความทั่วไปก็มีกำหนด 10 ปี เท่ากับอายุความบอกล้างโมฆียะกรรมอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมาปรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางเลื่อน หวังเจริญกับนางชะเอมหรือเอม หวังเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2834 เนื้อที่ 2 งาน 14 ตารางวา และได้ปลูกเรือนไทยขึ้น 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 8 และ 9 บนที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากทายาทของนายเลื่อนและนางชะเอมหรือเอม จำเลยที่ 2 เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่1 ตุลาคม 2501 จำเลยทั้งสองได้ใช้อุบายหลอกลวงนางชะเอมหรือเอมซึ่งอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ว่าขอมีส่วนร่วมลงชื่อในโฉนดที่ดินด้วย หลังจากไถ่ถอนที่ดินจากจำนองแล้ว เพราะจำเลยทั้งสองได้ปลูกเรือนลงบนที่ดินแล้วและมีบุตรหลายคนเกรงว่าจะมีปัญหาในภายหลัง นางชะเอมหรือเอมหลงเชื่อยินยอมให้ใส่ชื่อร่วมได้ แต่จำเลยทั้งสองกลับไปดำเนินการโอนขายให้แก่จำเลยทั้งสองในราคา 1,500 บาท การกระทำดังกล่าวนายเลื่อนไม่รู้เห็นด้วยทั้งนางชะเอมหรือเอมก็เข้าใจผิด หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองปกปิดตลอดจนนางชะเอมหรือเอมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2521 นายเลื่อนได้ทำพินัยกรรมยกสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวคือบ้านเลขที่ 8 และ 9 พร้อมทรัพย์สินในบ้านและเงินฝากในธนาคารให้แก่ทายาท 6 คน รวมทั้งโจทก์ด้วยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 นายเลื่อนได้ถึงแก่กรรมลง โจทก์กับทายาทร่วมกันไปติดต่อขอรับโอนทรัพย์มรดก จึงทราบว่าจำเลยที่ 1ได้ทำเรื่องการซื้อขายบ้านดังกล่าวไว้ในราคา 5,000 บาท ก่อนแล้วแต่ไม่ปรากฏหลักฐานสัญญาซื้อขายการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสียหายขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินและบ้านพิพาท ให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างนางชะเอมหรือเอม หวังเจริญ กับจำเลยทั้งสองและการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างนายเลื่อน หวังเจริญกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเวลาล่วงนับไปกว่า10 ปีแล้ว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
2. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
3. ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนางชะเอมหรือเอม หวังเจริญหรือไม่
4. นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางชะเอมหรือเอมหวังเจริญ กับจำเลยทั้งสองมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงใด
5. นิติกรรมการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างนายเลื่อน หวังเจริญกับจำเลยที่ 1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงใด
6. จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ในประเด็นเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยาน รอฟังคำพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2834 อ้างว่า จำเลยทั้งสองใช้อุบายหลอกลวงมารดาโจทก์ซึ่งอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ว่า ขอมีส่วนร่วมลงชื่อในโฉนดที่ดินด้วย จนมารดาโจทก์หลงเชื่อยินยอมให้ใส่ชื่อร่วมแต่จำเลยทั้งสองกลับไปดำเนินการเป็นการซื้อขายที่ดินทั้งแปลงเท่ากับอ้างว่ามารดาโจทก์ตกลงยินยอมโอนที่พิพาทให้จำเลยทั้งสองโดยให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับมารดาโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองกลับไปโอนขายเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงมารดาโจทก์ ดังนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 เดิม มิใช่โมฆะ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143 เดิม และคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทนั้น โจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่านิติกรรมการขายบ้านพิพาทระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องอย่างไร ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางชะเอมหรือเอม หวังเจริญกับจำเลยทั้งสองเป็นโมฆียะกรรม โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 2 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 1 ได้ใช้อุบายหลอกลวงนางชะเอมหรือเอมซึ่งอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ว่าขอมีส่วนร่วมลงชื่อในโฉนดที่ดินด้วยหลังจากไถ่ถอนจำนองแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ปลูกเรือนลงในที่ดินแล้ว และมีบุตรหลายคนเกรงจะมีปัญหาในภายหน้า นางชะเอมหรือเอมเห็นว่าเป็นบุตรจึงหลงเชื่อยินยอมให้ใส่ชื่อรวม แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นการทำเรื่องขายที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองในราคาเพียง 1,500 บาท ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนี้หมายความว่านางชะเอมหรือเอมยินยอมให้จำเลยทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้ระบุว่าจะให้ถือกรรมสิทธิ์รวมกี่ส่วนแต่เมื่อพิจารณาข้อความที่ว่านางชะเอมหรือเอม เห็นว่าเป็นบุตรจึงยินยอมให้ใส่ชื่อร่วม น่าจะหมายความว่านางชะเอมหรือเอมมีเจตนาที่จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเท่านั้นถือกรรมสิทธิ์รวมจึงพอถือได้ว่านางชะเอมหรือเอมให้จำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท 1 ใน 2 ส่วน อีก 1 ส่วน ยังคงเป็นส่วนของนางชะเอมหรือเอมอยู่ ซึ่งนางชะเอมหรือเอมไม่มีเจตนาที่จะยกส่วนนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองหรือขายให้แก่จำเลยทั้งสองแต่อย่างใดแต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของนางชะเอมหรือเอมที่จะยกให้เพียง 1 ส่วน เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองได้ใช้อุบายหลอกลวงนั่นเอง ดังนั้นนิติกรรมขายที่พิพาทจึงเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของนางชะเอมหรือเอมในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิม(มาตรา 156 ที่แก้ไขใหม่) ที่พิพาทจึงเป็นของนางชะเอมหรือเอมตลอดมา จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยอาศัยสัญญาขายที่ดิน เมื่อนางชะเอมหรือเอมตายที่พิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท โจทก์และผู้มอบอำนาจทั้ง 6 คนในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่พิพาทตกเป็นโมฆะได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกาปรับบทกฎหมายเรื่องอายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนด 10 ปี และคดีฟ้องเรียกมรดกซึ่งมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 1754 นั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย โดยอ้างว่านิติกรรมซื้อที่ดินและเรือนพิพาทเป็นโมฆียะกรรมต้องบอกล้างภายใน 10 ปีเท่านั้นศาลฎีกาจึงนำบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องโมฆียะกรรมเท่านั้นมาปรับแก่คดี จะนำอายุความคดีฟ้องเรียกมรดกมาปรับหาได้ไม่ ส่วนอายุความทั่วไปก็มีกำหนด 10 ปี เท่ากับอายุความบอกล้างโมฆียะกรรมอยู่แล้ว จึงไม่จำต้องนำมาปรับ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share