แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในบริเวณลำคลองสาธารณะ โดยได้ปลาเบญจพรรณมากถึง 10 กิโลกรัมนั้น ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในรัศมีของกระแสไฟฟ้าถูกทำลายโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ที่อยู่ในน้ำอย่างมาก ซึ่งธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเยียวยาและปรับสมดุลของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำของจำเลยที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีค่ายิ่งของสังคมส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง โดยใช้สายไฟฟ้าติดกับตะแกรงลวดด้ามไม้ไผ่และนำสายไฟฟ้าอีกข้างหนึ่งมาโยงต่อกับหม้อแปลงจากแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อให้กระแสไฟฟ้าวิ่งไปที่ตะแกรงลวดด้ามไม้ไผ่แล้วจุ่มตะแกรงลวดด้ามไม้ไผ่ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านลงในน้ำเพื่อทำอันตรายจับปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ บริเวณคลองบางไอ้วุ่นหรือคลองห้วยชัน หมู่ที่ 4 ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่จับสัตว์น้ำประเภทแหล่งน้ำสาธารณะสภาพเป็นน้ำจืด ทำการซ็อตจับปลาชนิดต่าง ๆ จำนวนหลายตัว รวม 10 กิโลกรัม โดยจำเลยมิได้กระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเรือไม้ (เรือตะเข้) 1 ลำ แบตเตอรี่ 1 ใบ ตะแกรงต่อด้ามไม้ไผ่ประกอบสายไฟ 1 ใบ กะละมังใส่ปลา 1 ใบ และไม้พาย 1 เล่ม ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และปลาชนิดต่าง ๆ จำนวนหลายตัวรวม 10 กิโลกรัม เป็นของกลาง ปลาชนิดต่าง ๆ เจ้าพนักงานได้ทำลายแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 4, 20, 62 ทวิ, 69 ริบของกลาง (ที่ถูก เว้นแต่ปลาของกลางที่ได้ทำลายแล้ว)
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกเห็นสมควรให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับ เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในบริเวณลำคลองสาธารณะโดยได้ปลาเบญจพรรณมากถึง 10 กิโลกรัม นั้น ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในรัศมีของกระแสไฟฟ้าถูกทำลายโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ที่อยู่ในน้ำอย่างมาก ซึ่งธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเยียวยาและปรับสมดุลของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำของจำเลยที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีค่ายิ่งของสังคมส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุก 3 เดือน เป็นโทษกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6