แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ลักษณะแห่งตราสารอันดับที่ 7 ใบมอบอำนาจ หมายถึง ใบตั้งตัวแทน และในส่วนค่าอากรแสตมป์นั้นหากมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท หากมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ซึ่งแม้การตั้งตัวแทนนั้นอาจต้องมอบให้ตัวแทนกระทำการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตัวการต้องการก็เป็นเรื่องปกติของการตั้งตัวแทนให้กระทำการแทนในกิจการต่าง ๆ แล้วแต่ว่ากิจการนั้นจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้ค่าอากรแสตมป์ขึ้นอยู่กับการกระทำแทนอย่างเดียวหรือหลายอย่างในการตั้งตัวแทนครั้งเดียว หากแต่กำหนดค่าอากรแสตมป์โดยเพียงให้ขึ้นอยู่กับการตั้งตัวแทนให้กระทำการเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งหากมอบอำนาจให้กระทำการได้หลายครั้งก็ต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท เท่านั้นโดยไม่จำกัดว่าในการกระทำการแทนหลายครั้งนั้น แต่ละครั้งจะต้องมีการกระทำกี่อย่าง ดังนั้น แม้ในการกระทำการแทนแต่ละครั้ง ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ก็คงต้องเสียค่าอากรเพียง 30 บาท เท่านั้น
โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจากผู้ฝากเงิน แล้วนำมาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อโดยเฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีนี้มีมูลหนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ขายซึ่งอยู่ต่างประเทศจึงขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้านั้น โดยโจทก์ยอมตนเข้าผูกพันชำระเงินค่าสินค้าเองตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์เป็นผู้ออก ซึ่งเมื่อโจทก์ชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแล้วย่อมถือว่าเป็นการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวแก่โจทก์ จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารจากโจทก์ไปใช้รับสินค้าจากผู้ขนส่งก่อน โดยตกลงจะชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายหลังตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท จึงเห็นได้ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาก่อผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการให้สินเชื่อแล้วเรียกเอาหนี้จากการให้สินเชื่อนั้นโดยตรง หาใช่กรณีที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องส่งมอบของแก่จำเลยที่ 1 หรือทำการงานหรือดูแลกิจการให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบหรือค่าการงานที่ทำหรือค่าดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแต่อย่างใด จึงมิใช่สิทธิเรียกร้องอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ถือไม่ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (1) ส่วนที่อ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (7) ด้วย นั้น ตามคำให้การก็ไม่ได้ให้การยกอายุความตามมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเมื่อหนี้ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นหนี้ร่วม การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาดังกล่าวด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,326,085.60 บาท พร้อามดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,383,889.02 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้านำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,834,280.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 87457, 87458, 87459, 87467, 87468, 87561, 87562, 87563, 87564 และ 87565, ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 7,834,280.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึง 5 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้นายสายัณห์ และนายปิยชาติ ร่วมกันดำเนินคดีแทนโจทก์ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าว ระบุถึงการที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการหลายอย่างแทนโจทก์ จึงต้องปิดอากรแสตมป์แยกตามการมอบอำนาจให้กระทำการแต่ละอย่าง โดยถ้ากระทำการแต่ละอย่างได้ครั้งเดียวต้องปิดอากรแสตมป์ในการกระทำแทนแต่ละอย่าง อย่างละ 10 บาท ถ้ากระทำแทนได้หลายครั้งต้องปิดอากรแสตมป์ในการกระทำแทนแต่ละอย่างแยกกันอย่างละ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท จึงไม่ชอบ เห็นว่า ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรลักษณะแห่งตราสารอันดับที่ 7 ใบมอบอำนาจ หมายถึง ใบตั้งตัวแทน และในส่วนค่าอากรแสตมป์นั้นหากมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท หากมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ซึ่งแม้การตั้งตัวแทนนั้นอาจต้องมอบให้ตัวแทนกระทำการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตัวการต้องการก็เป็นเรื่องปกติของการตั้งตัวแทนให้กระทำการแทนในกิจการต่าง ๆ แล้วแต่ว่ากิจการนั้นจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้ค่าอากรแสตมป์ขึ้นอยู่กับการกระทำแทนอย่างเดียวหรือหลายอย่างในการตั้งตัวแทนครั้งเดียวหากแต่กำหนดค่าอากรแสตมป์โดยเพียงให้ขึ้นอยู่กับการตั้งตัวแทนให้กระทำการเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง หากมอบอำนาจให้กระทำการได้หลายครั้งก็ต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท เท่านั้น โดยไม่จำกัดว่าในการกระทำการแทนหลายครั้งนั้น แต่ละครั้งจะต้องมีการกระทำกี่อย่าง ดังนั้น แม้ในการกระทำการแทนแต่ละครั้ง ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็คงต้องเสียค่าอากรเพียง 30 บาท เท่านั้น การปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวชอบแล้ว จึงใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงถึงอำนาจของผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้อย่างสมบูรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 5 ฉบับตามฟ้อง ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนี้ได้ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และ (7) เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยการรับฝากเงินจากผู้ฝากเงินแล้วนำมาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อ และโดยเฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวนี้มูลหนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ขายซึ่งอยู่ต่างประเทศจึงขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้านั้น โดยโจทก์ยอมตนเข้าผูกพันชำระเงินค่าสินค้าเองตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์เป็นผู้ออกซึ่งเมื่อโจทก์ชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแล้วย่อมถือว่าเป็นการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 ตามความหมายของการให้สินเชื่อดังที่บัญัติไว้ในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 4 และเมื่อจำเลยที่ 4 ยังไม่สามารถชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวแก่โจทก์ จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารจากโจทก์ไปใช้รับสินค้าจากผู้ขนส่งก่อนโดยตกลงจะชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายหลังตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท จึงเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาที่ก่อผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการให้สินเชื่อแล้วเรียกเอาหนี้จากการให้สินเชื่อนั้นโดยตรง หาใช่กรณีที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องส่งมอบของแก่จำเลยที่ 1 หรือทำการงานหรือดูแลกิจการให้จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์เรียกเอาค่าของที่ส่งมอบหรือค่าการงานที่ทำหรือค่าดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือเงินที่ได้ออกทดรองไปแต่อย่างใด จึงมิใช่สิทธิเรียกร้องอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จึงถือไม่ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (1) ดังที่จำเลยที่ 2 ได้ให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ ส่วนตามีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (7) ด้วยนั้น ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยกอายุความตามมาตรา 193/34 (7) ขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ เป็นเงิน 4,714,977.34 บาท จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้จำนวนนี้ ก็ปรากฏตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 อ้างเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 2 ไล่เบี้ยดังกล่าวไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ย่อมฟังไม่ขึ้นไปด้วยเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นเงิน 6,200,000 บาท มีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนเงิน 6,200,000 บาท มีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนเงินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 12,326,085.60 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 8,383,889.02 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์เพื่อไถ่ถอนจำนองเฉพาะตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.14 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540 และมีการไถ่ถอนจำนองตามสัญญาจำนองฉบับดังกล่าวแล้วซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยหักหนี้ดังกล่าวออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินอันเป็นยอดหนี้ค้างชำระอยู่ในวันที่มีการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว โดยหักชำระดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วหักชำระต้นเงินบางส่วน คงเหลือจำนวนหนี้ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเป็นต้นเงินเพียงจำนวน 7,834,280.23 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยหลังจากนั้นไปคือตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ทั้งจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองหักหนี้จากการชำระหนี้ดังกล่าวแล้วให้ชำระต้นเงินที่ยังค้างชำระกับดอกเบี้ยต่อจากนั้นไปจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระแก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนั้น โดยที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 14 (2) บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 44 และปรากฏตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราต่าง ๆ แล้วเรียกเก็บได้ไม่เกินอัตราที่ประกาศนั้นและโดยเฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขก็ให้เรียกได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้สำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งแม้ในวันที่ศาลล่างทั้งสองให้เริ่มคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น อาจไม่เกินอัตราตามที่ธนาคารโจทก์ประกาศไว้ แต่ก็ไม่แน่ว่าในระยะเวลาภายหลังจากนั้นธนาคารโจทก์จะประกาศอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำกว่าร้อยละ 19 ต่อปี หรือไม่ โดยหากมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ต่ำกว่าร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์ก็ต้องเรียกดอกเบี้ยลดลงเป็นอัตราที่ต่ำลงตามประกาศนั้นด้วยมิฉะนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้ไม่เกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารโจทก์และไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองซึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์ด้วย และเมื่อหนี้ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นหนี้ร่วม การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์นั้น ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศให้ใช้บังคับในระหว่างการคิดดอกเบี้ยดังกล่าว หากช่วงเวลาใดไม่มีฐานในการคำนวณของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ให้อ้างอิงได้ ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ