คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7022/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ 905 บี กับจำเลยที่ 1 โดยให้ถือเอาเงินจองที่โจทก์ได้ชำระแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของราคาห้องชุด และได้ชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนกับตกลงชำระส่วนที่เหลือเป็นงวดรายเดือน รวม 30 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป ส่วนราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ โจทก์ตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ข้อเท็จจริงคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแก่โจทก์โดยมิชอบ กรณีจึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่อาจถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,804,105.30 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,761,070 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,282,587.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,761,070 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจองห้องชุดในโครงการบ้านปิยะสาธรกับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ 905 บี ชั้นที่ 9 กับจำเลยที่ 1 ในราคา 5,870,200 บาท โดยให้ถือเอาเงินจองที่โจทก์ได้ชำระแล้ว 50,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของราคาห้องชุด และได้ชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย 537,020 บาท กับตกลงชำระส่วนที่เหลือเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 39,135 บาท รวม 30 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป ส่วนราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ 4,109,130 บาท โจทก์ตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยจำเลยที่ 1 จะก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายใน 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบ 30 งวดแล้ว เป็นเงิน 1,000,000 บาทเศษ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแก่โจทก์โดยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์โดยนายสรพลจะเป็นผู้ทำสัญญาจองซื้อห้องชุด และมีการระบุสถานที่ติดต่อลูกค้าไว้ 2 แห่ง แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ระบุที่อยู่ที่ติดต่อได้ของโจทก์เพียงแห่งเดียวคือ บ้านเลขที่ 235/2 หมู่ที่ 10 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในสัญญาดังกล่าวข้อ 20 มีข้อกำหนดไว้ว่า “การติดต่อหรือส่งคำบอกกล่าวใดๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงให้กระทำโดยผู้ส่งเอกสารหรือไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ส่งไปยังที่อยู่ที่ติดต่อได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับนี้ หรือที่อื่นซึ่งจะได้แจ้งเปลี่ยนแปลงต่อไป ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นั้น ให้มีผลเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รับหนังสือแจ้งเช่นว่านั้นแล้ว” แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ใหม่แก่จำเลยที่ 1 แต่ประการใด จึงเห็นได้ว่าในการทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาถือเอาที่อยู่ของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวเป็นสำคัญ การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ไปยังโจทก์ ณ บ้านเลขที่ 7/19 ซอยสวนพลู 2 จึงไม่ถูกต้อง เพราะมิใช่ที่อยู่ของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ประกอบกับการส่งเอกสารไปยังบ้านเลขที่ 7/19 ซอยสวนพลู 2 ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ได้รับเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด การชำระเงินค่างวดของห้องชุดก็ได้ความว่า นายสรพลได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้นำเงินไปชำระ ณ ที่ว่าการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินชั่วคราวให้ไว้ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ในระหว่างที่โจทก์ชำระเงินค่างวดของห้องชุด จำเลยที่ 1 ได้เคยติดต่อกับโจทก์ ณ บ้านเลขที่ 7/19 ซอยสวนพลู 2 และสามารถติดต่อกับโจทก์ได้ ส่วนที่นายชูเกียรติพยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินต้นฉบับให้แก่โจทก์อีกครั้งหลังจากที่ออกใบรับเงินชั่วคราว โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน 30 ฉบับ ไปให้แก่โจทก์ ณ บ้านเลขที่ 7/19 ซอยสวนพลู 2 ก็เป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ ของนายชูเกียรติที่ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามติงเท่านั้น ไม่มีพยานเอกสารของจำเลยที่ 1 มาสนับสนุนทั้งไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 ได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องการส่งต้นฉบับใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ไว้แต่อย่างใด คำเบิกความดังกล่าวของนายชูเกียรติจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแก่โจทก์โดยมิชอบ กรณีจึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่อาจถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,282,587.65 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นจำนวน 2,282,587.65 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 57,065 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาจำนวน 70,102.50 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 13,037.50 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 13,037.50 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share