คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3263/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข. เป็นการผลิตยากำจัดวัชพืชมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปน เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุมีพิษฯ มาตรา 11,36 ส่วนตามฟ้องข้อ ค.เป็นการผลิตยาฆ่าปู มีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้าอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุมีพิษฯ มาตรา12,37 การกระทำความผิดในฟ้องทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นการผลิตวัตถุมีพิษต่างชนิดกัน กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ความผิด 2 ฐานนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่จำเลยผลิตยากำจัดวัชพืชมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาดังกล่าวปลอมโดยได้แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่ความจริงนั้น เป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดคือตาม พ.ร.บ. วัตถุมีพิษฯ มาตรา13 ตรี(1),13 จัตวา(3),38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90ส่วนที่จำเลยผลิตยาฆ่าปูมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงดังกล่าวปลอม โดยได้แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่เป็นความจริงนั้น เป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ ตาม พ.ร.บ. วัตถุมีพิษฯ มาตรา 13 ตรี(1),13 จัตวา(3),38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 91พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 11, 12, 13 ตรี, 13 จัตวา(3), 36, 37, 38 ตรี, 44 และให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และมีความผิดฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดา ผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษพ.ศ. 2510 มาตรา 11, 12, 13 ตรี, 13 จัตวา, 36, 38 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำคุก 3 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้ารวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน ของกลางทั้งหมดให้ริบเว้นแต่พัดลมไม่ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่าการกระทำตามฟ้องของโจทก์ในข้อ ข. ข้อ ค. และข้อ ง. เป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข. นั้น เป็นการผลิตยากำจัดวัชพืช มีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปน เพื่อการค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 11, 36 ส่วนตามฟ้องข้อ ค. นั้นเป็นการผลิตยาฆ่าปู มีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 12, 37 เห็นได้ว่าการกระทำความผิดในฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.นั้น เป็นการผลิตวัตถุมีพิษต่างชนิดกัน คือเป็นวัตถุมีพิษธรรมดากับวัตถุมีพิษร้ายแรง กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ความผิด 2 ฐานนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันแต่สำหรับความผิดในฟ้องข้อ ง. นั้น เป็นความผิดที่จำเลยได้ผลิตวัตถุมีพิษในฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. ปลอม เพื่อการค้า ซึ่งจำเลยมิได้รับอนุญาต โดยแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่ความจริง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรีดังนั้น การที่จำเลยผลิตยากำจัดวัชพืชมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษธรรมดาเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาดังกล่าวปลอมโดยได้แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่เป็นความจริงนั้น เป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยผลิตยาฆ่าปูมีวัตถุทางเคมีอันเป็นวัตถุมีพิษร้ายแรงเจือปนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงดังกล่าวปลอมโดยได้แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่เป็นความจริงนั้นเป็นกรณีที่จำเลยผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงชนิดเดียวกันปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี ลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 ดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยมาเพียงกระทงเดียวในความผิดสองฐานนี้และโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงมิอาจกำหนดโทษของจำเลยตามบทกฎหมายนี้ให้หนักไปกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษพ.ศ. 2510 มาตรา 11, 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 36, 38 ตรีประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กระทงหนึ่ง และมาตรา 12,13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 37, 38 ตรี ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 อีกกระทงหนึ่งรวม 2 กระทง ให้ลงโทษจำเลยเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงปลอมเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510มาตรา 13 ตรี(1), 13 จัตวา(3), 38 ตรี จำคุก 3 ปี และฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาปลอมเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามบทมาตราดังกล่าว จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 และคงจำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 3 ปี 5 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์”.

Share