คำวินิจฉัยที่ 6/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุโขทัย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ นางสุวคนธ์ เกิดผล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลศรีสำโรง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๐๑๗ ตำบลคลองตาล อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๗ ตารางวา ติดกับแม่น้ำยมทางด้านทิศตะวันออก หมู่ที่ ๕ ตำบลคลองตาล เป็นสวนที่มีผลไม้หลากหลายชนิด โดยบิดามารดาของผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมากว่า ๑๕๐ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินป้องกันตลิ่งพังริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก โดยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดดวงตะวันเอ็นจิเนียริ่งให้ทำการก่อสร้าง ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างเขื่อนเรียงหินริมฝั่งแม่น้ำยมและทางเท้าบนสันเขื่อนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีกว้างตั้งแต่ ๒.๖ เมตร ถึงกว้างสุด ๗ ถึง ๘ เมตร และตลอดแนวที่ดินประมาณ ๘๐ เมตร พร้อมนำดินมาถมบดอัดทับหลักเขต ๓ หลัก เพื่อทำเป็นทางเท้าและสำหรับรถวิ่งตลอดแนวที่ดินของผู้ฟ้องคดี กว้างประมาณ ๔ เมตร สูง ๒ เมตร ไม่จัดให้มีการระบายน้ำอันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ทำกินของผู้ฟ้องคดีและราษฎรใกล้เคียง และให้คนงานเข้ามาใช้พื้นที่เตรียมอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้าง ไถและทำลายต้นไม้ของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการกระทำละเมิดและคืนพื้นที่ทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีตามจำนวนที่ปรากฏในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๐๑๗ จัดให้มีการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการเข้าใช้พื้นที่เตรียมการก่อสร้าง ไถและทำลายต้นไม้ในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินในบริเวณที่พิพาทไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินบริเวณที่พิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การและให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกฟ้องคดีสร้างเขื่อนเรียงหินริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออกเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและกันตลิ่งพัง และกระทำในส่วนที่เป็นพื้นที่ชายตลิ่งสาธารณะมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๐๑๗ ของผู้ฟ้องคดี ไม่ละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดดวงตะวันเอ็นจิเนียริ่งให้ทำการก่อสร้าง สัญญาจ้างก่อสร้างเป็นสัญญาจ้างทำของ หากมีการเข้าไปทำงานในบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างจะต้องรับผิด หากที่ดินและต้นไม้ของผู้ฟ้องคดีเสียหายก็มิได้เกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีหรือจากผู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหาย และ ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้ฟ้องคดีหากจะมีก็ไม่สูงถึงขนาดตามคำฟ้อง การสร้างเขื่อนเรียงหินเป็นงานที่ผู้ถูกฟ้องคดีทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนรวมทั้งผู้ฟ้องคดีซึ่งมีที่ดินติดริมแม่น้ำยมที่ได้รับความเดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหายจากการถูกน้ำท่วมทุกปี การสร้างเขื่อนจึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี และไม่เป็นประเด็นพิพาทกันในเรื่องงานก่อสร้างเขื่อน
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีสร้างเขื่อนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียืนยันว่าเขื่อนสร้างอยู่ในที่ชายตลิ่ง อันเป็นที่สาธารณะมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ว่า ที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีที่โต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่มาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน บัญญัติให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ และศาลยุติธรรมก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างเขื่อนเรียงหินป้องกันตลิ่งพังริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก หมู่ที่ ๕ ตำบลคลองตาล รุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๐๑๗ เป็นบริเวณกว้างประมาณ ๒.๖ – ๗ เมตร ตลอดแนวที่ดินประมาณ ๘๐ เซนติเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒ งาน พร้อมทั้งนำดินมาถมบดอัดเพื่อทำทางเท้าและสำหรับรถวิ่งบนสันเขื่อนตลอดแนวที่ดินของผู้ฟ้องคดีกว้าง ๔ เมตร สูง ๒ เมตร โดยไม่มีการจัดทำทางระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังพื้นที่ทำกินของผู้ฟ้องคดีและราษฎรใกล้เคียง และมีการไถทำลายต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อใช้พื้นที่ในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้าง อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการกระทำละเมิดและคืนพื้นที่ทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีตามจำนวนที่ปรากฏในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๐๑๗ จัดให้มีการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และให้ชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายจากการเข้าใช้พื้นที่เตรียมการก่อสร้าง ไถและทำลายต้นไม้ในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดียังมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อนเรียงหินป้องกันตลิ่งพังริมแม่น้ำยมของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในการดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังพยานหลักฐานในคดีของศาลปกครองเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ไม่จำต้องเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งตามมาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้าม ศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีนี้ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิ์ครอบครองที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางน้ำและทางระบายน้ำ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน เมื่อผู้ฟ้องคดี อ้างว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ก่อสร้างเขื่อนเรียงหินป้องกันตลิ่งพังริมแม่น้ำยม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุโขทัยพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นตรงกันในเรื่องที่ว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเอกชน และเป็นเรื่องอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วได้ความว่าผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีละเมิดบุกรุกสร้างเขื่อนเรียงหิน และทำคันดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติ การกระทำ และให้คืนพื้นที่ทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีก็ให้การว่ามิได้กระทำละเมิดและมิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่ได้กระทำหรือสร้างเขื่อนเรียงหินทำคันดินในที่ชายตลิ่ง ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้สร้างเขื่อนเรียงหินโดยได้กระทำลงในที่ดินที่เป็นสาธารณประโยชน์ (ที่ชายตลิ่ง) มิได้กระทำในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งที่ดินอ้างว่าเป็นของตน อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี และเป็นประเด็นหลักของคดีนี้ แม้การที่ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำหรือออกคำสั่งทางปกครองให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินทำคันดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่กระทำทางระบายน้ำให้อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่การจะพิจารณาว่าคำสั่งหรือการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ หรือเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเสียก่อน จึงจะสามารถพิจารณาได้ว่าการกระทำหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างคู่กรณีอันเป็นประเด็นหลัก ส่วนคำขออื่นของผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงประเด็นรองลงไปเท่านั้น ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ทั้งยังมีหน้าที่ดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๐๑๗ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๗ ตารางวา และถูกผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างเขื่อนเรียงหินริมฝั่งแม่น้ำยมและทางเท้าบนสันเขื่อนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินดังกล่าวกว้างตั้งแต่ ๒.๖ เมตร ถึงกว้างสุด ๗ ถึง ๘ เมตร ตลอดแนวที่ดินประมาณ ๘๐ เมตร กับนำดินมาถมบดอัดทับหลักเขต ๓ หลัก เพื่อทำเป็นทางเท้าและสำหรับรถวิ่งตลอดแนวที่ดินของผู้ฟ้องคดี กว้างประมาณ ๔ เมตร สูง ๒ เมตร ไม่จัดให้มีการระบายน้ำ และให้คนงานเข้าใช้พื้นที่เตรียมอุปกรณ์ก่อสร้าง ไถและทำลายต้นไม้ของผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการกระทำละเมิดและคืนพื้นที่ทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีตามจำนวนที่ปรากฏในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๐๑๗ จัดให้มีการระบายน้ำ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีสร้างเขื่อนโดยว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมและกันตลิ่งพัง และกระทำในส่วนที่เป็นพื้นที่ชายตลิ่งสาธารณะมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี หากที่ดินและต้นไม้ของ ผู้ฟ้องคดีเสียหายก็มิได้เกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีหรือจากผู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหากจะมีก็ไม่สูงถึงขนาดตามคำฟ้อง การสร้างเขื่อนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี และไม่เป็นประเด็นพิพาทกันในเรื่องงานก่อสร้างเขื่อน ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์ขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็น คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุวคนธ์ เกิดผล ผู้ฟ้องคดี เทศบาลตำบลศรีสำโรง ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share