แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่กำหนดค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นใหม่โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ทั้งสามตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดี จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดมานั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เอง ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขในส่วนนี้เสียให้ถูกต้อง เพราะการพิพากษาคดีโดยไม่ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาวินิจฉัยได้เอง
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 367/2531 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกโจทก์คดีแพ่งหมายเลขแดงที่367/2531 ว่าโจทก์ที่ 3 แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางประมวล ศรีโสภณ มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ โจทก์ที่ 2 นางประมวลขับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยมีโจทก์ที่ 3 นั่งซ้อนท้ายแล่นออกจากบ้านไปตามถนน จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4น-0427 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถจักรยานยนต์ที่นางประมวลขับมา เป็นเหตุให้นางประมวลถึงแก่ความตายและโจทก์ที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ขาซ้ายหักไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่นางประมวลขับไปได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 2ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 รวมเป็นเงิน654,877.15 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของผู้ตายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 427,930 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 132,000บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของแต่ละยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 6,000 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ทั้งสามตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่งสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 367/2511จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 2มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่กำหนดค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นใหม่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ทั้งสามตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดีจึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดมาดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เอง ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขในส่วนนี้เสียให้ถูกต้อง เพราะการพิพากษาคดีโดยไม่ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาวินิจฉัยได้เอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ