คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา กฎหมายฉบับที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ถูกยกเลิกไปแล้วมีกฎหมายฉบับใหม่คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับแทนปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลัง การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คดีนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปโดยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้ เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยมีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาทและไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม จำคุกกระทงละ 1 ปีเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดแต่ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกากฎหมายฉบับที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ถูกยกเลิกไปแล้วมีกฎหมายฉบับใหม่ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลัง การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คดีนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปโดยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่โจทก์นำสืบก็เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เพราะเรื่องการกู้ยืมเงินกันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยมีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสือจึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดีการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังการกระทำของจำเลย แม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share