คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7015/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา จำเลยให้การต่อสู้ว่า พนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย แต่โจทก์ไม่ไปเก็บเงินค่าเช่าซื้อเอง จำเลยจึงไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ดังนี้ ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่า การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า พนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย เป็นการนำสืบถึงการปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่สัญญา จึงไม่เป็นการนำสืบพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นั้นจึงเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงและเป็นสาระแห่งคดีอันควรได้รับการวินิจฉัยการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 มีข้อความระบุว่าจำเลยผู้เช่าซื้อตกลงชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญานี้ ภายในกำหนดระยะเวลาการเช่าซื้อ และตามเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงระยะเวลาการเช่าซื้อและการชำระเงินค่าเช่าซื้อ การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า พนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเช่นนี้ จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 410,419 บาท กับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 78,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 3,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริง โดยมีข้อตกลงว่าพนักงานของโจทก์จะไปเก็บเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่มาเก็บเงินค่าเช่าซื้อเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว วันที่ 5 ธันวาคม 2535 รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเสียหายทั้งคัน จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ ทั้งค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องก็สูงเกินไปไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 410,419 บาท ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 63,500 บาท และชำระต่อไปอีกเดือนละ 2,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 46,000 บาท และชำระต่อไปอีกเดือนละ 2,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์แต่ให้ไม่เกิน 12 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 อ-1763 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 527,562 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 42 งวด งวดละเดือน เดือนละ 12,561 บาททุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 พฤศจิกายน 2535 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2535 ต่อมา วันที่ 5 ธันวาคม 2535 รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 แจ้งให้บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อทราบและแจ้งให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยจำเลยที่ 1 เห็นว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายมากไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้ จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังโจทก์ แต่โจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อและไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อ จึงมีหนังสือเตือนให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป โดยมีหนังสือเตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าพนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นการนำสืบถึงการปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่สัญญา จึงไม่เป็นการนำสืบพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า พนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ไปเก็บเงินค่าเช่าซื้อเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา และศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ดังนี้ ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงและเป็นสาระแห่งคดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ และเห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อตกลงชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญานี้ ภายในกำหนดระยะเวลาการเช่าซื้อ และตามเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงระยะเวลาการเช่าซื้อและการชำระเงินค่าเช่าซื้อดังต่อไปนี้ การที่จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลว่า พนักงานของโจทก์ตกลงที่จะไปเก็บค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เช่นนี้จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้กลับคืนสู่สภาพดีหลังจากผู้เช่าซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพไม่เรียบร้อยได้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับการบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ก็คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้ เพราะกรณีตามคดีนี้มิใช่กรณีตามปกติแต่เป็นกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดความเสียหายจนจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะใช้รถยนต์และผูกพันตามสัญญาต่อไป ดังนั้น การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงถูกต้องและชอบด้วยข้อสัญญานั้น เห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 กำหนดว่า ในกรณีผู้เช่าซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 7 ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้กลับคืนสู่สภาพดีตามจำนวนที่เจ้าของประมาณขึ้นและจะต้องจ่ายค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นจำนวนเงินเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด หักด้วยจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระไปแล้วจนถึงวันบอกเลิกสัญญา (รวมทั้งเงินที่ชำระครั้งแรก) ให้แก่เจ้าของ นอกเหนือจากเงินจำนวนอื่นที่จะต้องจ่ายตามสัญญานี้แม้สัญญาข้อดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพไม่เรียบร้อยได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่สัญญาข้อนี้ได้กำหนดหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติไว้ด้วย เมื่อทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันในเรื่องค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่เช่าซื้อให้กลับคืนสู่สภาพดีกับค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อและได้มีการจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวครบถ้วน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และไม่ชอบด้วยข้อสัญญานั้นชอบแล้ว

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ โดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายโจทก์จึงควรเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยก่อนแล้วมาเรียกร้องส่วนที่ยังขาดอยู่จากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.2 ระบุเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับผลประโยชน์ว่าในกรณีที่มีความสูญหายหรือความเสียหายที่มิอาจซ่อมได้ บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามส่วนได้เสียก่อน และตามหนังสือเอกสารหมาย ล.10 มีข้อความระบุว่า บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ได้ดำเนินการซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้จำเลยที่ 1 ไปรับรถยนต์ดังกล่าวที่อู่กมลชัยการาจใกล้สถานีตำรวจนครบาลบางเขน แสดงว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสามารถซ่อมได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยในกรณีนี้ได้

พิพากษายืน

Share