แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 188 จะบัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป” ก็ตาม แต่วันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางนั้น ก็ยังไม่ทำให้รถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.อ. มาตรา 35 ทันที เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างที่อาจอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด เจ้าของรถยนต์ย่อมโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้ผู้ร้องได้โดยชอบ และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนไว้ ผู้ร้องซึ่งซื้อรถยนต์มาจากเจ้าของก่อนคดีถึงที่สุดจึงเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้ ภายในกำหนด 1 ปี แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 ประกอบกับ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 25 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติการขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 36 ไว้ คำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๑๐๒ และให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก ๙๑๑๙ กรุงเทพมหานคร ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง และมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษากลับคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง ให้จำเลยเช่าซื้อไปเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๐ จำเลยกระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นมี คำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และผู้ร้องซื้อทรัพย์สินประเภทสัญญาเช่าซื้อจาก องค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (“ปรส.”) ในนามและแทนบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ตามสัญญาขายสินทรัพย์ประเภทสัญญาเช่าซื้ออันรวมถึงรถยนต์ของกลางด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๘ บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป” ก็ตาม แต่การที่ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางซึ่งได้อ่านในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ นั้น ก็ยังไม่ทำให้รถยนต์ของกลางตกเป็นของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕ ทันที เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างที่อาจอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด บริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด เจ้าของรถยนต์ของกลางที่แท้จริงย่อมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องโดยชอบ และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องซึ่งซื้อรถยนต์ของกลางจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (“ปรส.”) ในนามและแทนบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ก่อนคดีถึงที่สุด จึงเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่แท้จริง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้ภายในกำหนด ๑ ปี แต่คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๓ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอรถยนต์ของกลางคืนเกินกำหนด ๑ ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การยื่นคำร้องขอคืน รถยนต์ของกลางของผู้ร้องจึงไม่ชอบเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ประกอบกับ พระราชกำหนดการปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๕ ก็มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติการขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๓๖ ไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอรถยนต์ของกลางคืน เกินกำหนด ๑ ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการยื่นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก้ผู้ร้องจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง