แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาจ้างกำหนดว่าสัญญาจ้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 แต่ยังมีข้อความต่อไปอีกว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจาเกี่ยวกับการต่อสัญญา 2 เดือน ก่อนสัญญาสิ้นสุดลง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์ที่จะยกเลิกสัญญาต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 2 เดือน ข้อความในส่วนหลังนี้ทำให้เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาการจ้าง แต่การใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยต้องมีเหตุอันสมควรจึงจะเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ผลักดันให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโจทก์ให้ตรงกำหนดและจ่ายค่าบริการที่จำเลยเก็บจากลูกค้าให้ลูกจ้าง เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกจ้างลาออกบ่อยครั้ง ต้องรับลูกจ้างใหม่ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเข้ามาประจำ ทำให้มาตรฐานการบริการลูกค้าไม่ดีเท่าที่ควรโจทก์กระทำเพื่อให้มาตรฐานการบริการลูกค้าดีขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำผิดจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างต้องมีเหตุผลแห่งการเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 55,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีผลในวันที่ 29 ตุลาคม 2544 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดตามสัญญาทำให้โจทก์ต้องตกงานและขาดรายได้ประจำ ถ้าจำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปอีก 2 ปีขอคิดค่าเสียหาย 1,320,000 บาท จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน คิดเป็นเงิน 55,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 1,320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และจ่ายค่าชดเชย 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30ตุลาคม 2544 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยและโจทก์ทำสัญญาจ้างงานมีกำหนด 3 ปี แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาได้ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 2 เดือน ทำให้สัญญาจ้างกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาการจ้าง จำเลยได้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือโดยอาศัยสัญญาจ้างข้อ 3 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ทั้งนี้โจทก์ได้กระทำผิดข้อบังคับการทำงานขั้นร้ายแรง ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา โจทก์มีทัศนคติไม่ดีต่อโรงแรมของจำเลย จงใจทำให้โรงแรมได้รับความเสียหายในชื่อเสียง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป และใช้ค่าเสียหายฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้อง จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ทำงานที่โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตันที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ไปทำงานที่โรงแรมถาวรบีชวิลเลจที่จังหวัดภูเก็ตของจำเลย โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างกันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.3 ให้โจทก์ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรมจำเลยมีระเบียบข้อบังคับการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย ล.5 วันที่ 30 สิงหาคม 2544 จำเลยมีหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลย โดยให้โจทก์ทำงานถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2544 โดยมิได้อ้างเหตุผลแห่งการเลิกจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับการปฏิบัติงาน จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยอุทธรณ์ประเด็นแรกว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ล.3 โดยไม่ต้องมีเหตุแห่งการเลิกจ้างการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ล.3 จะกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าสัญญาดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 แต่ยังมีข้อความระบุต่อไปอีกว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจาเกี่ยวกับการต่อสัญญา 2 เดือน ก่อนสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์ที่จะยกเลิกสัญญาฉบับนี้ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 2 เดือนข้อความในส่วนหลังนี้ทำให้สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาการจ้างดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ล.3 ต้องมีเหตุอันสมควรจึงจะเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ผลักดันให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจำเลย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโจทก์ให้ตรงกำหนดและจ่ายค่าบริการที่จำเลยเก็บจากลูกค้าให้ลูกจ้าง สาเหตุที่โจทก์กระทำการดังกล่าวเกิดจากจำเลยจ่ายค่าจ้างล่าช้าและงดจ่ายค่าบริการทำให้ลูกจ้างลาออกบ่อยครั้งต้องรับลูกจ้างใหม่ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเข้ามาเป็นประจำทำให้มาตรฐานการบริการลูกค้าไม่ดีเท่าที่ควรข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์กระทำเพื่อให้มาตรฐานการบริการลูกค้าของจำเลยดีขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการเลิกจ้างต้องมีเหตุผลแห่งการเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับการปฏิบัติงานของจำเลยเอกสารหมายล.5 หรือไม่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน