คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความหมายของคำว่า “ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนศิษย์เท่านั้นแต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นเพียงครูหรืออาจารย์ในการสอนกวดวิชา ซึ่งผู้สมัครเรียนชำระค่าสมัครแล้วจะไปเรียนหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ อีกทั้งไม่ได้ความว่าสถาบันกวดวิชาของจำเลยมีระเบียบหรือข้อเคร่งครัดอย่างใด แสดงว่าจำเลยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอน ดังนั้น แม้จำเลยจะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ก็มิใช่การกระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยอันจะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 หากแต่เป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก และมิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 281เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวแต่เมื่อพิจารณารายงานกระบวนพิจารณาแล้ว พออนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องทุกข์แล้ว จึงมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากนางสาว พ. อายุ 17 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากนาง ก. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารหลังจากนั้นจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นหญิงซึ่งมิใช่ภริยาตน ทั้งยังเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้าย กอดปล้ำใช้มือบีบคอจนผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้จนสำเร็จความใคร่ 2 ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 285, 318

เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์ เป็นขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ

ระหว่างพิจารณานาง ก. และนางสาว พ. ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนาง ก. ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกนางสาว พ. ว่าโจทก์ร่วมที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 285, 318 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 10 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้บรรเทาผลร้ายแห่งความผิดโดยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งสองจนเป็นที่พอใจ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 10 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 17 ปีเศษ พักอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ร่วมที่ 1 และกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนปริ๊นซ์รอยัลชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2542 โจทก์ร่วมที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปสมัครเรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชาอาร์ตแอนด์ครอว์สตูดิโอ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของสถาบันและอาจารย์ผู้สอน โดยเรียนทุกวัน เลิกเรียนเวลา 20 นาฬิกา โจทก์ร่วมที่ 1 จะเป็นผู้ไปส่งและรับกลับ ในระหว่างวันที่ 20 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2542 มีงานประกวดแข่งขันวาดภาพจำเลยบอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าการแข่งขันวาดภาพดังกล่าวมีความสำคัญมา หากชนะจะมีโอกาสสอบเข้าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ จำเลยต้องการให้ลูกศิษย์ของจำเลยไปสมัครแข่งขันวาดภาพ ครั้นวันเกิดเหตุคือวันที่ 24 เมษายน 2542 โจทก์ร่วมที่ 1ไปส่งโจทก์ร่วมที่ 2 เรียนที่สถาบันของจำเลยตามปกติ เวลาประมาณเที่ยงวัน จำเลยบอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าจะพาไปสมัครประกวดวาดภาพ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยไป ระหว่างทางจำเลยพาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าโรงแรมเดอะเกรทซึ่งเป็นโรงแรมม่านรูดแล้วข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเดิมจำเลยให้การรับสารภาพแต่ต่อมาให้การปฏิเสธในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจำนวน 100,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ในข้อหาความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจะถือว่าเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลอันจะทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ เห็นว่า แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยคำว่า ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งความหมายของข้อความที่ว่าศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลนั้นมิได้หมายถึง เฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนศิษย์เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยเป็นเพียงครูหรืออาจารย์ในการสอนกวดวิชาตามที่มีผู้ไปสมัครเรียนตามความสมัครใจ และเมื่อผู้สมัครเรียนชำระค่าสมัครแล้วจะไปเรียนหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ อีกทั้งไม่ได้ความว่าสถาบันของจำเลยมีระเบียบหรือข้อบังคับเคร่งครัดอย่างใด แสดงว่า จำเลยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอน ดังนั้น แม้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ตามฟ้องการกระทำของจำเลยก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยอันจะเป็นผลให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 หากเป็นเพียงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก และมิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลชั้นต้น ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544พออนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องทุกข์แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ชอบที่ศาลล่างทั้งสองจะต้องจำหน่ายคดีเฉพาะในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา โดยโจทก์ร่วมที่ 2 นั้น ไม่เต็มใจไปด้วยและข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้าย กอดปล้ำ ใช้มือบีบคอจนโจทก์ร่วมที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จนสำเร็จความใคร่ฟ้องของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการย่อมหมายความว่า จำเลยรับว่าได้กระทำความผิดทั้งสองกรรม ซึ่งเป็นความผิดต่างฐานกันสำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้นเห็นว่า จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 จึงหลอกโจทก์ร่วมที่ 2ว่าจะพาไปสมัครแข่งขันวาดภาพโดยให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับไป แต่จำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์พาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าโรงแรมม่านรูดแล้วข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมไปส่งโจทก์ร่วมที่ 2 สมัครแข่งขันวาดภาพกลับพาเข้าโรงแรมเช่นนั้น เป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา เพื่อการอนาจาร โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ซึ่งผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยนับว่าเป็นภัยต่อนักเรียนและสุจริตชนทั่วไป โดยเฉพาะสร้างความเสียใจแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ผู้เป็นมารดาไปตลอดชีวิต การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษและลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกำหนดโทษดังกล่าวให้เบาลงอีก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนนี้ชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share