คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะจำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีนี้ มาตรา 15 และ มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงมิใช่เรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 3 แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลยที่ 3 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วหากจำเลยที่ 3 เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยที่ 3 ชอบที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 แต่จำเลยที่ 3 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ โดยอ้างข้อกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 3 ดังนี้หากศาลฟังข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 อ้างแล้ววินิจฉัยปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2547 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 2,100,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 จำคุก 25 ปี และปรับ 1,050,000 บาท รวมจำคุก 25 ปี 3 เดือน และปรับ 1,050,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิให้กักขังเกินกว่า 2 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่สุดแล้ว
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยที่ 3 เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ใช้สิทธินั้นจนคดีถึงที่สุดและศาลออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดไปแล้ว กรณีไม่อยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะปรับแก้ตัวบทกฎหมายและบทกำหนดโทษให้จำเลยที่ 3 ใหม่ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 3 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ซึ่งมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลยที่ 3 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 แล้ว หากจำเลยที่ 3 เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยที่ 3 ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 แต่จำเลยที่ 3 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุดไปนานแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ โดยอ้างข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ดังนี้ หากศาลฟังข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 อ้างแล้ววินิจฉัยปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 3 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share