แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 นั้น แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ อีกทั้งเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้วก็มีผล ให้ลูกหนี้คงต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/75 คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการ ฟื้นฟูกิจการตาม มาตรา 90/70 แต่เมื่อเจ้าหนี้ที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ตามมาตรา 90/42 ทวิ ประกอบมาตรา 6 เมื่อจำนวนหนี้สูงกว่าราคาทรัพย์หลักประกันจำนวนหนี้ที่มีประกันของเจ้าหนี้มีประกัน ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ส่วนหนี้จำนวนที่เหลือย่อมมีฐานะเป็น เจ้าหนี้ธรรมดา ในการพิจารณามูลค่าราคาหลักประกัน ศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์ หลักประกันในท้องตลาดตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันในการฟื้นฟูกิจการ
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 (9) บัญญัติว่า “ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี” หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมแต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใด อย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เช่นนี้เมื่อผู้บริหารแผนซึ่งมีหน้าที่ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจาก ข้อกำหนดในแผนก็ดี เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดนี้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
แม้ข้อกำหนดบางส่วนในแผนตกเป็นโมฆะ หากข้อกำหนดดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญของแผน หรือบุคคล ที่เกี่ยวข้องมิได้ถือเอาข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ เมื่อข้อกำหนดในแผนที่เหลืออยู่ยังใช้บังคับได้ และ แผนฟื้นฟูกิจการที่ใช้บังคับได้ยังมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัท ส. เป็นผู้ทำแผนที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ที่มีการแก้ไขแล้ว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56 แล้ว
เจ้าหนี้รายที่ 21 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลสั่งมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจง ขอให้ยกคำคัดค้าน
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58
เจ้าหนี้รายที่ 21 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้บริหารแผนยื่นคำแถลงว่า ผู้บริหารแผนได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วน และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 แล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์เจ้าหนี้รายที่ 21 ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 นั้น แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ อีกทั้งเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว มาตรา 90/75 บัญญัติว่า “คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้รับชำระหนี้ไว้แล้ว
” เช่นนี้การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็มีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินจำนวนดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 21 ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป ส่วนการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 ก็เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั่นเอง เช่นนี้หากว่าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ และมาตรา 6 เมื่อจำนวนหนี้สูงกว่าราคาทรัพย์หลักประกันการเป็นเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่นย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ดังนั้น การที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันตามบทบัญญัติดังกล่าวเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกันจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา คดีนี้มีปัญหาว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเป็นจำนวน 600,000,000 บาท เป็นมูลค่าที่สมควรหรือไม่ ในการพิจารณามูลค่าราคา หลักประกัน ศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาดตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน ทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นที่ดินและเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ในการจำนอง ลูกหนี้จำนองทรัพย์ดังกล่าวประกันหนี้ไว้ในวงเงิน 766,000,000 บาท บริษัท ม. ได้ประเมินราคาทรัพย์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 เป็นจำนวนเงิน 629,511,500 บาท ประกอบกับในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ยังคงใช้ทรัพย์ดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ทำแผนตีราคาทรัพย์หลักประกันเป็นเงิน 600,000,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้รายที่ 10 พอใจในราคาดังกล่าว ถือว่าเป็นราคาที่สมควรและเป็นธรรมแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ที่ว่า ทรัพย์หลักประกันมีจำนวนต่ำกว่าราคาดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น การจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนประเด็นที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดความสำเร็จของแผนไว้ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เหมาะสมหรือไม่นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 (9) บัญญัติว่า “ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี” หมายความว่าระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี ความมั่นคง ความเชื่อมั่นตลอดจนเครดิตของลูกหนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำการค้า หากลูกหนี้ต้องอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการนานเท่าไร ลูกหนี้ก็ไม่อาจไปทำธุรกิจแข่งขันกับผู้อื่นได้ เพราะผู้ที่เป็นลูกค้าก็จะไม่เชื่อถือ ส่วนคู่ค้าซึ่งเป็นผู้ส่งวัตถุดิบย่อมไม่เต็มใจที่จะค้าขายด้วยหากจะค้าขายก็จะอยู่ในเงื่อนไขหรือราคาที่ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบกว่ากรณีปกติ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนลูกหนี้จึงเหมาะสมกับสภาพกิจการและความจำเป็นทางธุรกิจของลูกหนี้แล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ฟังไม่ขึ้น พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทั้งนี้ตามมาตรา 90/27” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใด อย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เช่นนี้เมื่อผู้บริหารแผนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้ว จนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ ตามที่ได้วินิจฉัยมาในข้อนี้แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของแผนที่คงเหลืออยู่ เห็นว่า แผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ.