คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันในขณะที่ไม่มีข้อความในเอกสารดังกล่าว เท่ากับจำเลยกล่าวอ้างว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่ถูกต้อง โจทก์ต้องนำสืบถึงข้อกล่าวอ้างของโจทก์ให้ปรากฏ ซึ่งต้องอาศัยหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐาน เมื่อหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 34,500 บาทโดยจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่กู้เงินไป จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ย และเมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วเพิกเฉยคิดแล้วจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ 22,856 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,356 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 34,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2ให้การว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาโดยที่ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินหรือข้อความใด ๆ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์รวม 34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2532 เป็นต้นไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายอีก 400 บาทแก่โจทก์จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 (ด้านหลัง) ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 2 ให้การรับว่า ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 จริง แต่ขณะลงลายมือชื่อยังไม่มีข้อความในเอกสารดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 2มิได้ยอมรับว่าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1หากแต่ต่อสู้ว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เขียนข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันเองโดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าเอกสารหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่ถูกต้อง จะฟังว่าจำเลยที่ 2ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ได้ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบถึงข้อกล่าวอ้างของโจทกืให้ปรากฏ และการจะนำสืบถึงข้อกล่าวอ้างดังกล่าว โจทก์ก็ต้องอาศัยเอกสารหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 และสัญญาค้ำประกันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา680 วรรคสอง บัญญัติว่า อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์มีเอกสารหนังสือสัญญาค้ำประกันมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share