คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และนาง ต. ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยได้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันในเวลาทำงาน และในบริเวณโรงงานอันเป็นสถานที่ทำการของจำเลยซึ่งมีเครื่องสุขภัณฑ์ อันเป็นสินค้าของจำเลยวางเรียงซ้อนกันอยู่ อาจทำให้เครื่องสุขภัณฑ์ เสียหายได้ทั้งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 10.11 และข้อ 11.3.9ก็ห้ามมิให้พนักงานทุกคนทะเลาะวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันในสถานที่ทำการ หากฝ่าฝืนให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังนี้ จึงถือได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกับพนักงานอื่นในเวลาทำงานอันเป็นการกระทำผิดร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทะเลาะวิวาทกับนางแตงอ่อน เพื่อนร่วมงานในเวลาทำงานและในบริเวณที่ทำงาน ซึ่งมีเครื่องสุขภัณฑ์ วางเรียงซ้อนกันอยู่ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 11.3.9 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และแม้เป็นการผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และนางแตงอ่อนเสนสายทอง ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยได้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันในเวลาทำงานและในบริเวณโรงงานอันเป็นสถานที่ทำการของจำเลย ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีเครื่องสุขภัณฑ์ ของจำเลยวางเรียงซ้อนกันอยู่การทะเลาะวิวาททำร้ายกัน อาจทำให้เครื่องสุขภัณฑ์ ของจำเลยเกิดความเสียหายได้ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 10.11 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้พนักงานทุกคนทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายซึ่งกันและกันหรือต่อบุคคลใด ๆ ในสถานที่ทำการบริเวณโรงงานหรือบ้านพัก และข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ข้อ 11.3.9กำหนดว่า การกระทำผิดข้อบังคับ ข้อ 10.11 นั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นที่เห็นได้แล้วว่าเหตุที่จำเลยมีข้อบังคับออกมาเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เครื่องสุขภัณฑ์ ที่อยู่ภายในบริเวณโรงงานของจำเลยได้รับความเสียหายการที่โจทก์ทะเลาะวิวาททำร้ายกับเพื่อนพนักงานในสถานที่ทำงานของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share